ReutersReuters

วิเคราะห์ความเสียหายที่ตลาดต่าง ๆ ได้รับจากภาวะอัตราดบ.สูง

1 ก.พ.--รอยเตอร์

  • นักวิเคราะห์ระบุว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวของธนาคารกลางทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมาจะสร้างความเสียหายเป็นอย่างมากต่อตลาดต่าง ๆ โดยตลาดแรกคือตลาดหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หลังจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเคยได้รับแรงหนุนเป็นอย่างมากในทศวรรษที่แล้วท่ามกลางภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำมากในทศวรรษนั้น ทั้งนี้ นักลงทุนมักจะลงทุนในหุ้นกลุ่มที่จ่ายเงินปันผลสูงในช่วงที่เศรษฐกิจเผชิญกับความไม่แน่นอน ดังนั้นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจึงอาจจะไม่ได้รับความนิยมในช่วงนี้ ซึ่งรวมถึงหุ้นแอปเปิลที่มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลต่ำกว่า 1% นอกจากนี้ บริษัทหลายแห่งในกลุ่มเทคโนโลยีก็กำลังปรับลดจำนวนพนักงานลงในช่วงนี้ด้วย ซึ่งรวมถึงบริษัทแอลฟาเบทที่วางแผนจะปลดพนักงานออกราว 12,000 ตำแหน่ง ในขณะที่บริษัทไมโครซอฟท์, อะเมซอน และเมตา แพลตฟอร์มส์วางแผนจะปลดพนักงานออกเกือบ 40,000 ตำแหน่ง

  • ความเสียหายประการที่ 2 คือการผิดนัดชำระหนี้ในภาคเอกชนที่พุ่งสูงขึ้นพร้อมกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยบริษัทเอสแอนด์พี โกลบอลระบุว่า ยุโรปมียอดการผิดนัดชำระหนี้ในปีที่แล้วสูงเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา และเอสแอนด์พี โกลบอลคาดว่า อัตราการผิดนัดชำระหนี้ในสหรัฐอาจจะพุ่งขึ้นจาก 1.6% ในเดือนก.ย. 2022 สู่ 3.75% ในเดือนก.ย. 2023 โดยมีตัวเลขคาดการณ์สูงสุดอยู่ที่ 6.0% ส่วนอัตราการผิดนัดชำระหนี้ในยุโรปอาจจะพุ่งขึ้นจาก 1.4% ในเดือนก.ย. 2022 สู่ 3.25% ในเดือนก.ย. 2023 โดยมีตัวเลขคาดการณ์สูงสุดอยู่ที่ 5.5%

  • ความเสียหายประการที่ 3 คือความเสียหายที่อาจมีต่อตลาดการปล่อยกู้ภาคเอกชน ซึ่งรวมถึงการปล่อยกู้โดยตรง หลังจากตลาดดังกล่าวมีขนาดพุ่งขึ้นจาก 2.50 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2010 สู่ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำมากในช่วงหลังเกิดวิกฤติการเงินปี 2008 กระตุ้นให้นักลงทุนต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงนั้น ซึ่งรวมถึงลงทุนในการปล่อยสินเชื่อแบบคิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัว อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจะส่งผลให้บริษัทหลายแห่งมีภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้น และอาจจะส่งผลให้บริษัทเหล่านี้เผชิญความยากลำบากในการระดมเงินสดให้ได้มากพอเพื่อนำมาจ่ายดอกเบี้ย

  • ความเสียหายประการที่ 4 คือความเสียหายที่ตลาดสกุลเงินคริปโตได้รับจากอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้น โดยบิทคอยน์ดิ่งลงมาแล้ว 64% ในปี 2022 และมูลค่าของตลาดสกุลเงินคริปโตทั่วโลกก็รูดลงราว 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว

  • ความเสียหายประการที่ 5 คือความเสียหายในตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มตกต่ำลงในปีที่แล้วท่ามกลางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และมีแนวโน้มว่าราคาบ้านในสหรัฐอาจจะดิ่งลง 12% ในปี 2023 ด้วย ทั้งนี้ ผู้จัดการกองทุนในผลสำรวจของแบงก์ ออฟ อเมริการะบุว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนถือเป็นปัจจัยที่มีความเป็นไปได้สูงเป็นอันดับสองที่จะก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่มีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ ทางด้านบริษัทวีล, กอทชาล แอนด์ แมงเจสรายงานว่า หนี้ด้อยคุณภาพในภาคอสังหาริมทรัพย์ของยุโรปพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2012 นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังกล่าวเตือนอีกด้วยว่า ผลกำไรของภาคธนาคารในยุโรปอาจจะได้รับความเสียหายเป็นอย่างมากจากการดิ่งลงของราคาบ้าน--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้