ReutersReuters

MORNING BRIEF:สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ

กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--รอยเตอร์

  • ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงในวันอังคาร หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันอังคารว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐสำหรับอุปสงค์ขั้นสุดท้ายปรับขึ้น 0.5% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ +0.3% หลังจากดัชนี PPI ปรับลง 0.1% ในเดือนมี.ค. ส่วนดัชนี PPI แบบเทียบรายปีพุ่งขึ้น 2.2% ในเดือนเม.ย. หลังจากปรับขึ้น 1.8% ในเดือนมี.ค. โดยดัชนี PPI ในเดือนเม.ย.ได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งของต้นทุนสินค้าและบริการ และสิ่งนี้บ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วงต้นไตรมาสสอง นอกจากนี้ รายงานยังระบุอีกด้วยว่า ราคาสินค้าปรับขึ้น 0.4% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากปรับลง 0.2% ในเดือนมี.ค. แต่ราคาอาหารดิ่งลง 0.7% ในเดือนเม.ย. ทั้งนี้ เทรดเดอร์ปรับลดการคาดการณ์เรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. หลังจากสหรัฐเปิดเผยรายงานดัชนี PPI และเทรดเดอร์ก็คาดการณ์ในวันอังคารว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงรวมกันเพียงราว 0.44% ในปี 2024 Eikon source text

    ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 105.05 ในช่วงท้ายตลาดวันอังคาร โดยอ่อนค่าลงจาก 105.19 ในช่วงท้ายตลาดวันจันทร์

    ดอลลาร์/เยนอยู่ที่ 156.42 เยนในช่วงท้ายตลาดวันอังคาร โดยแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดวันจันทร์ที่ 156.20 เยน

    ยูโร/ดอลลาร์อยู่ที่ 1.0818 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันอังคาร โดยปรับขึ้นจาก 1.0788 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันจันทร์

  • ตลาดหุ้นสหรัฐปรับขึ้นในวันอังคาร โดยได้รับแรงหนุนจากถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันอังคารว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐสำหรับอุปสงค์ขั้นสุดท้ายปรับขึ้น 0.5% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ +0.3% หลังจากดัชนี PPI ปรับลง 0.1% ในเดือนมี.ค. โดยนายพาวเวลล์กล่าวว่า รายงานดัชนี PPI ในครั้งนี้อยู่ในภาวะไร้ทิศทางชัดเจน แทนที่จะอยู่ในภาวะร้อนแรง เนื่องจากมีการปรับทบทวนตัวเลของเดือนมี.ค.ให้ต่ำลงจากเดิม หลังจากที่เคยรายงานว่าอยู่ที่ +0.2% ในเดือนมี.ค. นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐก็อาจได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากการดิ่งลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐด้วย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีร่วงลงจาก 4.481% ในช่วงท้ายวันจันทร์ สู่ 4.445% ในช่วงท้ายวันอังคาร ทั้งนี้ ในบรรดาหุ้น 11 กลุ่มใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐนั้น ดัชนีหุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นปรับลง 0.2% และถือเป็นกลุ่มที่ปรับลงมากที่สุดในวันอังคาร ส่วนดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีพุ่งขึ้น 0.9% และถือเป็นกลุ่มที่พุ่งขึ้นมากที่สุดในวันอังคาร ทางด้านหุ้นบริษัทแอลฟาเบทปิดบวกขึ้น 0.7% หลังจากแอลฟาเบทเปิดเผยวิธีการที่ทางบริษัทนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้งานในธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงใน Gemini ซึ่งเป็นโปรแกรมโต้ตอบข้อความ อย่างไรก็ดี หุ้นโฮม ดีโปท์ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกปรับลง 0.1% ในวันอังคาร หลังจากโฮม ดีโปท์รายงานว่า ยอดขายดิ่งลงอย่างรุนแรงเกินคาด Eikon source text

    ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดบวกขึ้น 0.32% สู่ 39,558.11 ในวันอังคาร และอยู่ห่างจากสถิติระดับปิดสูงสุดที่เคยทำไว้ในวันที่ 28 มี.ค.ในระดับไม่ถึง 1%

    ดัชนี S&P 500 ปิดปรับขึ้น 0.48% สู่ 5,246.68 ในวันอังคาร และอยู่ห่างจากสถิติระดับปิดสูงสุดที่เคยทำไว้ในวันที่ 28 มี.ค.เพียง 0.1%

    ดัชนี Nasdaq ปิดบวกขึ้น 0.75% สู่ 16,511.18 ในวันอังคาร ซึ่งถือเป็นสถิติระดับปิดสูงสุดใหม่ โดยสามารถทำลายสถิติเดิมที่เคยทำไว้ในวันที่ 11 เม.ย.

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX ดิ่งลงในวันอังคาร หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันอังคารว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐสำหรับอุปสงค์ขั้นสุดท้ายปรับขึ้น 0.5% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ +0.3% หลังจากดัชนี PPI ปรับลง 0.1% ในเดือนมี.ค. โดยรายงานตัวเลขนี้ทำให้นักลงทุนกังวลว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงต่อไป ทางด้านนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดกล่าวว่า เขาคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐจะยังคงชะลอตัวลงต่อไปในปี 2024 แต่ความเชื่อมั่นของเขาลดลงในตอนนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้ออยู่สูงเกินคาดในไตรมาสแรก อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันยังคงได้รับแรงหนุนเข้ามาบ้างในวันอังคารจากความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง และจากไฟป่าในแคนาดา ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายต่อปริมาณการผลิตทรายน้ำมันในแคนาดา ทั้งนี้ หลังจากตลาด NYMEX ปิดทำการในวันอังคาร การปิโตรเลียมสหรัฐ (API) ซึ่งเป็นหน่วยงานของเอกชน ได้เปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันสหรัฐประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 พ.ค. โดยระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบในคลังสหรัฐดิ่งลง 3.104 ล้านบาร์เรล, สต็อกน้ำมันเบนซินในคลังสหรัฐดิ่งลง 1.269 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมัน distillates ในคลังสหรัฐปรับขึ้น 673,000 บาร์เรล ทางด้านกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ได้เปิดเผยรายงานรายเดือนในวันอังคารด้วยเช่นกัน โดยทางกลุ่มยังคงคาดว่า อุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2024 โดยคาดว่าอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้น 2.25 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2024 และเพิ่มขึ้น 1.85 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2025 Eikon source text

    ราคาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนมิ.ย.รูดลง 1.10 ดอลลาร์ หรือ 1.39% มาปิดตลาดที่ 78.02 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

    ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ค.ที่ตลาดกรุงลอนดอนดิ่งลง 98 เซนต์ หรือ 1.18% มาปิดตลาดที่ 82.38 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

  • ราคาทองสปอตที่ตลาดสหรัฐพุ่งขึ้น 21.92 ดอลลาร์ สู่ 2,357.97 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงท้ายตลาดวันอังคาร โดยได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ และจากการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันอังคารว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐสำหรับอุปสงค์ขั้นสุดท้ายปรับขึ้น 0.5% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ +0.3% โดยรายงานนี้บ่งชี้ว่า อัตราเงินเฟ้ออาจจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป Eikon source text

--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้