ReutersReuters

MORNING BRIEF:สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ

กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--รอยเตอร์

  • ดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินหลายสกุลยกเว้นเยนในวันพฤหัสบดี หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐเติบโต 1.6% ในไตรมาสแรกเมื่อเทียบเป็นตัวเลขเต็มปี (annualized) ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ +2.4% แต่ดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐานปรับขึ้น 3.7% ในไตรมาสแรก ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ +3.4% และปัจจัยนี้อาจจะเป็นอุปสรรคขัดขวางธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ หลังจากรัฐบาลสหรัฐรายงานตัวเลขจีดีพี นักลงทุนในตลาดสัญญาล่วงหน้าก็คาดการณ์ว่า มีโอกาส 58% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. โดยปรับลดลงจากโอกาส 70% ที่เคยคาดไว้ในช่วงเย็นวันพุธ และนักลงทุนยังคาดการณ์กันอีกด้วยว่า มีโอกาส 68% ที่เฟดอาจจะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 6-7 พ.ย. ซึ่งจะถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา Eikon source text

    ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 105.60 ในช่วงท้ายตลาดวันพฤหัสบดี โดยอ่อนค่าลงจาก 105.80 ในช่วงท้ายตลาดวันพุธ หลังจากปรับขึ้นแตะจุดสูงสุดของวันที่ 106.00

    ดอลลาร์/เยนอยู่ที่ 155.65 เยนในช่วงท้ายตลาดวันพฤหัสบดี โดยแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดวันพุธที่ 155.34 เยน หลังจากดิ่งลงแตะจุดต่ำสุดของวันที่ 155.31 เยน และหลังจากพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดของวันที่ 155.75 เยน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดรอบ 34 ปี หรือจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา

    ยูโร/ดอลลาร์อยู่ที่ 1.0729 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี โดยปรับขึ้นจาก 1.0697 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันพุธ

  • ตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลงในวันพฤหัสบดี โดยได้รับแรงกดดันจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐที่ระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐเติบโต 1.6% ในไตรมาสแรกเมื่อเทียบเป็นตัวเลขเต็มปี (annualized) ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี และอยู่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ +2.4% แต่ดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐานปรับขึ้น 3.7% ในไตรมาสแรก ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ +3.4% โดยรายงานนี้ส่งผลให้นักลงทุนในตลาดเงินคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียง 0.36% ในปีนี้ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐก็ได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากหุ้นบริษัทเมตา แพลตฟอร์มส์ที่ดิ่งลง 10.56% ในวันพฤหัสบดีด้วย หลังจากเมตาเปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวัง ทางด้านหุ้นอีก 3 ตัวในกลุ่ม Magnificent Seven ของสหรัฐก็รูดลงในวันพฤหัสบดีด้วยเช่นกัน ซึ่งรวมถึงหุ้นแอลฟาเบทที่ดิ่งลง 1.97%, หุ้นอะเมซอนดอทคอมที่รูดลง 1.65% และหุ้นไมโครซอฟท์ที่ดิ่งลง 2.45% ในวันพฤหัสบดี ทั้งนี้ การดิ่งลงของหุ้นเมตาส่งผลให้ดัชนีหุ้นกลุ่มการสื่อสารของสหรัฐกลายเป็นหุ้นกลุ่มใหญ่ที่รูดลงมากที่สุดในวันพฤหัสบดี ส่วนหุ้นกลุ่มอื่น ๆ ที่รูดลงในวันพฤหัสบดีรวมถึงหุ้นกลุ่มการแพทย์, กลุ่มอสังหาริมทรัพย์, กลุ่มการเงิน, กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น และกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ทางด้านหุ้นบริษัทอินเตอร์เนชันแนล บิสเนส แมชชีนส์ (IBM) ดิ่งลง 8% หลังจาก IBM ประกาศเรื่องการทำข้อตกลงขนาด 6.4 พันล้านดอลลาร์เพื่อเข้าซื้อบริษัทฮาชิ คอร์ป อย่างไรก็ดี หุ้นนิวมอนท์ ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองแร่ทองที่ใหญ่ที่สุดในโลกพุ่งขึ้น 12% หลังจากนิวมอนท์รายงานผลกำไรไตรมาสแรกที่สูงเกินคาด โดยได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของราคาทองในช่วงที่ผ่านมา Eikon source text

    ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดดิ่งลง 0.98% สู่ 38,085.80

    ดัชนี S&P 500 ปิดปรับลง 0.46% สู่ 5,048.42

    ดัชนี Nasdaq ปิดร่วงลง 0.64% สู่ 15,611.76

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX ปรับขึ้นในวันพฤหัสบดี โดยได้รับแรงหนุนจากความกังวลเรื่องอุปทานน้ำมันในภูมิภาคตะวันออกกลาง ในขณะที่อิสราเอลดำเนินการโจมตีทางอากาศต่อเมืองราฟาห์ในภาคใต้ของเขตกาซา หลังจากอิสราเอลประกาศว่าจะอพยพพลเรือนออกจากเมืองราฟาห์และจะเริ่มการโจมตีอย่างเต็มรูปแบบ ถึงแม้ชาติพันธมิตรเตือนว่าการทำเช่นนี้จะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากถ้อยแถลงของเจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐที่ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะที่ดีมาก โดยเยลเลนได้กล่าวต่อรอยเตอร์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่งกว่าที่ตัวเลขไตรมาสแรกบ่งชี้ไว้ และเธอกล่าวเสริมว่า อาจจะมีการปรับทบทวนตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจประจำไตรมาสแรกให้สูงขึ้นในเวลาต่อมา หลังจากสหรัฐได้รับข้อมูลเพิ่มเติม และอัตราเงินเฟ้อก็จะชะลอตัวลงสู่ระดับปกติมากกว่านี้ หลังจากปัจจัยที่ผิดปกติบางประการทำให้เศรษฐกิจเติบโตในไตรมาสแรกในอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี Eikon source text

    ราคาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนมิ.ย.ปรับขึ้น 76 เซนต์ หรือ 0.9% มาปิดตลาดที่ 83.57 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

    ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมิ.ย.ที่ตลาดกรุงลอนดอนพุ่งขึ้น 99 เซนต์ หรือ 1.1% มาปิดตลาดที่ 89.01 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

  • ราคาทองสปอตที่ตลาดสหรัฐปรับขึ้น 15.96 ดอลลาร์ สู่ 2,331.78 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงท้ายตลาดวันพฤหัสบดี โดยราคาทองได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งสูงขึ้น หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่สูงเกินคาดในไตรมาสแรก ทั้งนี้ ยอดการนำเข้าทองสุทธิจากฮ่องกงสู่จีนพุ่งขึ้น 40% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบรายเดือน โดยพุ่งขึ้นสู่ 55.836 ตันในเดือนมี.ค. จาก 39.826 ตันในเดือนก.พ. โดยจีนถือเป็นประเทศผู้ใช้ทองรายใหญ่ที่สุดในโลก Eikon source text

--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้