ReutersReuters

ตลาดโลหะมีค่านิวยอร์ค:ทองปรับขึ้นขณะบอนด์ยิลด์ปรับลง

นิวยอร์ค--1 มิ.ย.--รอยเตอร์

  • ราคาทองสปอตที่ตลาดสหรัฐปรับขึ้น 3.16 ดอลลาร์ สู่ 1,962.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงท้ายตลาดวันพุธ โดยได้รับแรงหนุนจากการปรับลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อย่างไรก็ดี ราคาทองปิดตลาดเดือนพ.ค.ด้วยการดิ่งลง 1.37% จากเดือนเม.ย. ซึ่งถือเป็นการปิดตลาดรายเดือนในแดนลบเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ในขณะที่ราคาทองได้รับแรงกดดันในเดือนพ.ค.จากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ, จากการคาดการณ์ที่ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป และจากการคาดการณ์ในทางบวกต่อข้อตกลงเรื่องเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ โดยราคาทองดิ่งลงมาแล้วกว่า 100 ดอลลาร์จากจุดสูงสุดของเดือนพ.ค.ที่ 2,072.19 ดอลลาร์ ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีปรับลงจาก 3.696% ในช่วงท้ายวันอังคาร สู่ 3.637% ในช่วงท้ายวันพุธ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 2 ปีดิ่งลงจาก 4.473% ในช่วงท้ายวันอังคาร สู่ 4.390% ในช่วงท้ายวันพุธ โดยการปรับลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ส่งผลบวกต่อราคาทอง เพราะทองเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ให้ดอกเบี้ย

  • ราคาสัญญาทองล่วงหน้าปิดตลาดปรับขึ้น 0.3% สู่ 1,982.10 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทางด้านราคาโลหะเงินในตลาดสปอตปิดพุ่งขึ้น 0.263 ดอลลาร์ หรือ 1.13% สู่ 23.478 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนราคาพลาตินั่มในตลาดสปอตปิดรูดลง 20.75 ดอลลาร์ หรือ 2.05% สู่ 993.25 ดอลลาร์/ออนซ์ และราคาพัลลาเดียมในตลาดสปอตปิดดิ่งลง 38.52 ดอลลาร์ หรือ 2.75% สู่ 1,362.11 ดอลลาร์/ออนซ์

  • ราคาทองได้รับแรงหนุนในช่วงแรก หลังจากมีรายงานระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เขตชิคาโกอยู่ในระดับอ่อนแอเกินคาด โดยดัชนี PMI ดิ่งลง 8.2 จุด สู่ 40.4 ในเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 47.0 ในขณะที่ดัชนี PMI ที่ระดับต่ำกว่า 50 บ่งชี้ถึงการหดตัวเมื่อเทียบรายเดือน และดัชนีที่ระดับต่ำกว่า 43 บ่งชี้ถึงภาวะถดถอย โดยดัชนี PMI เขตชิคาโกอยู่ต่ำกว่า 50 มาเป็นเวลานาน 9 เดือนติดต่อกันแล้ว อย่างไรก็ดี ราคาทองลดช่วงบวกลงในเวลาต่อมา หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐได้เปิดเผยผลสำรวจตำแหน่งงานว่างและการเข้า-ออกงาน (JOLTS) ในวันพุธ โดยผลสำรวจระบุว่า ยอดการเปิดรับสมัครงานในสหรัฐพุ่งขึ้น 358,000 ตำแหน่ง สู่ 10.103 ล้านตำแหน่งในเดือนเม.ย. และรายงานตัวเลขดังกล่าวก็ส่งผลให้นักลงทุนคาดการณ์กันในตอนแรกว่า มีโอกาสราว 71% ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.

  • อย่างไรก็ดี หลังจากนายฟิลิป เจฟเฟอร์สัน หนึ่งในผู้ว่าการเฟด แสดงความเห็นเรื่องแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในเวลาต่อมา นักลงทุนก็คาดการณ์ว่า มีโอกาสเพียง 32.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. และมีโอกาส 67.2% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. ทั้งนี้ นายเจฟเฟอร์สันกล่าวเตือนว่า ถึงแม้เฟดอาจจะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. การตัดสินใจดังกล่าวก็ไม่ได้หมายความว่าการคุมเข้มนโยบายการเงินได้สิ้นสุดลงแล้ว และเขากล่าวเสริมว่า การข้ามผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้งจะเปิดโอกาสให้เฟด "ได้ดูข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนที่จะตัดสินใจเรื่องขนาดของการคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไป"

  • ราคาทองได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ โดยดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 104.15 ในช่วงท้ายวันพุธ โดยแข็งค่าขึ้นจาก 104.05 ในช่วงท้ายวันอังคาร หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 104.70 ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. หรือจุดสูงสุดในรอบกว่า 2 เดือน นอกจากนี้ ดัชนีดอลลาร์ก็ปิดตลาดเดือนพ.ค.ด้วยการพุ่งขึ้นจากระดับ 101.73 ในช่วงสิ้นเดือนเม.ย. และการแข็งค่าของดอลลาร์ก็ส่งผลให้ทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ ทั้งนี้ นายเอ็ดเวิร์ด โมยา นักวิเคราะห์ตลาดของบริษัท OANDA กล่าวว่า ราคาทองมีแนวรับสำคัญอยู่ที่ระดับราว 1,950 ดอลลาร์ และปัจจัยดังกล่าวอาจจะกระตุ้นคำสั่งซื้อตามกระแสเข้ามาในตลาด ซึ่งอาจจะช่วยหนุนราคาทองให้พุ่งขึ้นสู่ 2,000 ดอลลาร์--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้