ReutersReuters

ตลาดโลหะมีค่านิวยอร์ค:ทองทรงตัวขณะดอลล์ดิ่งลง

นิวยอร์ค--30 ก.ย.--รอยเตอร์

  • ราคาทองสปอตที่ตลาดสหรัฐขยับขึ้น 0.85 ดอลลาร์ สู่ 1,660.29 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงท้ายตลาดวันพฤหัสบดี หลังจากดิ่งลงกว่า 1% ในระหว่างวันจนแตะจุดต่ำสุดของวันที่ 1,640.30 ดอลลาร์ในช่วงแรก โดยราคาทองได้รับแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ระดับสูง และจากความกังวลที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าว อย่างไรก็ดี ราคาทองได้รับแรงหนุนจากการดิ่งลงของดอลลาร์สหรัฐในวันพฤหัสบดี เพราะการอ่อนค่าของดอลลาร์ส่งผลให้ทองมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 111.80 ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี โดยดิ่งลงจาก 113.03 ในช่วงท้ายวันพุธ หลังจากทะยานขึ้นแตะ 114.78 ในวันพุธ ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2002 หรือจุดสูงสุดรอบ 20 ปี อย่างไรก็ดี อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 2 ปีปรับขึ้นจาก 4.094% ในช่วงท้ายวันพุธ สู่ 4.170% ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีปรับขึ้นจาก 3.707% ในช่วงท้ายวันพุธ สู่ 3.747% ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี

  • ราคาสัญญาทองล่วงหน้าปิดตลาดขยับลง 0.1% สู่ 1,668.60 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทางด้านราคาโลหะเงินในตลาดสปอตปิดขยับลง 0.075 ดอลลาร์ สู่ 18.815 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนราคาพลาตินั่มในตลาดสปอตปิดปรับขึ้น 1.52 ดอลลาร์ สู่ 864.93 ดอลลาร์/ออนซ์ และราคาพัลลาเดียมในตลาดสปอตปิดพุ่งขึ้น 46.09 ดอลลาร์ หรือ 2.14% สู่ 2,201.23 ดอลลาร์/ออนซ์

  • นายเอ็ดเวิร์ด โมยา นักวิเคราะห์ของบริษัท OANDA กล่าวว่า "การอ่อนค่าของดอลลาร์ในวันพฤหัสบดีอาจจะช่วยพยุงราคาทอง อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญยังคงเป็นความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นก็ยังคงพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงนี้" และเขากล่าวเสริมว่า "ตลาดทองจะยังคงแสดงปฏิกิริยาต่อปัจจัยทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับดอลลาร์สหรัฐ และปัจจัยทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการคาดการณ์เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)"

  • ราคาทองดิ่งลงในช่วงแรก หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกดิ่งลง 16,000 ราย สู่ 193,000 รายในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ก.ย. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. หรือจุดต่ำสุดรอบ 5 เดือน และอยู่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ 215,000 ราย โดยรายงานตัวเลขนี้บ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานสหรัฐยังคงรักษาระดับความแข็งแกร่งไว้ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 3.00% นับตั้งแต่เดือนมี.ค.เป็นต้นมา ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยืนยันในวันพฤหัสบดีว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐหดตัวลง 0.6% ในไตรมาสสองเมื่อเทียบเป็นตัวเลขเต็มปี (annualized) ซึ่งเท่ากับตัวเลขในการประเมินครั้งแรก หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลง 1.6% ในไตรมาสแรก

  • บล.ทีดีระบุว่า "นักลงทุนในตลาดอัตราดอกเบี้ยกำลังปรับตัวรับการคาดการณ์ที่ว่า อัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปเป็นเวลานานระยะหนึ่ง ส่วนราคาทองอาจจะยังคงร่วงลงไปอีกในขั้นตอนต่อไปในวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย" ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เฟดบางคนกล่าวย้ำในช่วงนี้ว่า เฟดมีภาระผูกพันในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ โดยนายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานเฟดสาขาชิคาโกกล่าวในวันพุธว่า เฟดควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ 4.50-4.75% ก่อนสิ้นปีนี้หรือก่อนสิ้นเดือนมี.ค.ปีหน้า และคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับดังกล่าวเป็นเวลานานระยะหนึ่ง--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้