CHINA:ชี้บริษัทจีนกักตุนเงินดอลล์ช่วงนี้เพื่อรับมือสงครามการค้า
เซี่ยงไฮ้--22 พ.ย.--รอยเตอร์
บริษัทจีนกำลังดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อรับมือกับความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐที่อาจจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐตั้งแต่ต้นปีหน้า โดยความขัดแย้งทางการค้าดังกล่าวอาจจะส่งผลให้เกิดภาวะปั่นป่วนวุ่นวายในตลาดปริวรรตเงินตรา และบริษัทจีนก็รับมือกับเรื่องนี้โดยใช้วิธีกักตุนเงินดอลลาร์มากยิ่งขึ้น, กำหนดราคาในสัญญาในรูปของสกุลเงินหยวน หรือเปิดเส้นทางการนำเข้าเพื่อลดความเสี่ยงด้านสกุลเงิน ทั้งนี้ ผู้ส่งออกของจีนกำลังเตรียมพร้อมรับมือกับการโยกย้ายการส่งออกในระยะยาวไปยังทวีปเอเชีย, ภูมิภาคลาตินอเมริกา และทวีปแอฟริกา และผู้ส่งออกพยายามคุ้มครองกิจการของตนเองไม่ให้ได้รับความเสียหายจากการแกว่งตัวผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย หลังจากที่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนั้นมาแล้วในช่วงที่นายทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยแรกในปี 2017-2020
หยวนดิ่งลงแตะ 7.2526 หยวนต่อดอลลาร์ในวันนี้ ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. หรือจุดต่ำสุดในรอบ 3 เดือนกว่า โดยหยวนดิ่งลงมาแล้ว 2.35% จากระดับ 7.0858 หยวนต่อดอลลาร์ในวันที่ 4 พ.ย. ซึ่งเป็นวันก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ทั้งนี้ นายเดวิด เจียง ผู้ก่อตั้งบริษัทเฉียน จิง ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้คำปรึกษาด้านการบริหารความเสี่ยงกล่าวว่า "บริษัทจีนมีความเต็มใจมากยิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในการถือครองดอลลาร์ในต่างประเทศ" และเขากล่าวเสริมว่า บริษัทแห่งหนึ่งในมณฑลเจียงสูในภาคตะวันออกของจีนได้ขอคำปรึกษาเรื่องการรับมือกับความเสี่ยงด้านสกุลเงิน ในขณะที่นายทรัมป์ขู่ที่จะดำเนินมาตรการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนในอัตรา 60% โดยบริษัทแห่งนี้มียอดส่งออก 300 ล้านดอลลาร์ต่อปี และมีอัตราผลกำไร 5%
บริษัทจีนส่วนใหญ่เก็บผลกำไรที่ได้รับจากการส่งออกไว้ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ในต่างประเทศ ถ้าหากทางบริษัทสามารถทำเช่นนั้นได้ ส่วนธนาคารกลางจีนระบุว่า ยอดเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศในจีนพุ่งขึ้น 6.6% สู่ 8.365 แสนล้านดอลลาร์ในช่วง 12 เดือนสิ้นสุดเดือนต.ค. ทางด้านนักวิเคราะห์คาดว่า หยวนอาจจะร่วงลงสู่ 7.3 หยวนต่อดอลลาร์ในช่วงสิ้นปีหน้า จากระดับ 7.2526 หยวนต่อดอลลาร์ในวันนี้ ทั้งนี้ นายหลิว หยาง จากบริษัทเจ๋อซาง ดีเวลอปเมนท์ กรุ๊ป ซึ่งทำธุรกิจส่งออกแร่ธาตุระบุว่า "ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างจีนกับสหรัฐอยู่ในระดับสูง และส่วนต่างจะยังคงอยู่สูงแบบนี้ต่อไปเป็นเวลานาน ดังนั้นการถือครองสินทรัพย์สกุลดอลลาร์จึงถือเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ส่งออกของจีน" และเขากล่าวเสริมว่า ผู้ส่งออกควรจะขายคอลล์ออปชั่นที่ระดับราว 7.5 หยวนต่อดอลลาร์
บริษัทจีนกำลังเตรียมพร้อมรับมือกับความปั่นป่วนวุ่นวายในอนาคต หลังจากที่เคยเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมาแล้วในช่วงที่นายทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยแรก โดยในช่วง 18 เดือนแรกที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐนั้น หยวนเคยพุ่งขึ้น 10% ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่หยวนก็ดิ่งลงราว 12% ในเวลาต่อมา เมื่อนายทรัมป์ประกาศมาตรการด้านภาษีนำเข้าและเมื่อเกิดวิกฤติโรคระบาด ทั้งนี้ ประสบการณ์ในครั้งนั้นส่งผลให้จีนเตรียมความพร้อมมากยิ่งขึ้นในตอนนี้ โดยข้อมูลจาก SWIFT ซึ่งเป็นเครือข่ายการสื่อสารระหว่างธนาคารทั่วโลกระบุว่า หยวนครองสัดส่วน 5.77% ในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศทั่วโลกในช่วงสิ้นเดือนต.ค. ซึ่งส่งผลให้หยวนครองอันดับสองรองจากดอลลาร์สหรัฐ และสัดส่วนดังกล่าวพุ่งขึ้นเป็นอย่างมากจากระดับราว 2% ในปี 2020 นอกจากนี้ ข้อมูลจากศุลกากรยังระบุอีกด้วยว่า ในบรรดายอดส่งออกของจีนนั้น ยอดส่งออกจากจีนสู่สหรัฐครองสัดส่วนลดลงเรื่อย ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ยอดส่งออกสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, สู่อินเดีย และสู่เม็กซิโกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
บริษัทผู้ส่งออกบางแห่งของจีนพยายามปรับลดความเสี่ยงด้านสกุลเงินด้วยการกำหนดราคาสินค้าในรูปของหยวน หรือดำเนินการค้าแบบสองทิศทาง โดยนายแจ็คกี้ หวัง นักธุรกิจในมณฑลกวางตุ้งที่ทำธุรกิจขายหลอดไฟ LED ให้แก่ทวีปอเมริกาใต้และทวีปแอฟริการะบุว่า บริษัทต่าง ๆ ควรจะปรับลดความเสี่ยงด้วยการดำเนินการค้าแบบพหุภาคี และเขากล่าวเสริมว่า "สิ่งนี้หมายถึงการนำเงินที่ได้รับจากการส่งออกไปใช้ในการซื้อสินค้าในประเทศนั้น และนำเข้าสินค้าดังกล่าวมายังประเทศจีน พร้อมกับแปลงผลกำไรที่ได้รับให้อยู่ในรูปของดอลลาร์สหรัฐ การทำแบบนี้ถือเป็นวิธีการแบบพื้นฐานที่เรียบง่ายในการจัดการกับความเสี่ยงด้านสกุลเงิน" โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือในการทำประกันความเสี่ยงที่มีความซับซ้อนสูง ทั้งนี้ นายฮัน ชางหมิง ผู้นำเข้ารถยนต์ในมณฑลฝู่เจี้ยนแสดงความเห็นแบบเดียวกัน โดยเขาทำธุรกิจส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ด้วย และเขากล่าวเสริมว่า "การทำการค้าแบบสองทิศทางถือเป็นการทำประกันความเสี่ยงตามธรรมชาติ"--จบ--
Eikon source text
(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)
((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;