UK:อังกฤษเผยเงินเฟ้อพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุด 6 เดือนที่ 2.3%
ลอนดอน--21 พ.ย.--รอยเตอร์
สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ (ONS) รายงานเมื่อวานนี้ว่า อัตราเงินเฟ้อของราคาผู้บริโภคอังกฤษพุ่งขึ้นสู่ 2.3% ในเดือนต.ค.เมื่อเทียบรายปี ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดรอบ 6 เดือน โดยได้รับแรงหนุนจากการทะยานขึ้นของราคาพลังงานภายในอังกฤษ และอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวพุ่งขึ้นจากระดับ 1.7% ในเดือนก.ย. ซึ่งระดับดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2021 ที่อัตราเงินเฟ้อร่วงลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ตั้งไว้ที่ 2% ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อแบบเทียบรายปีของเดือนต.ค.พุ่งขึ้น 0.6% จากเดือนก.ย. ซึ่งถือเป็นการพุ่งขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่อัตราเงินเฟ้อแตะจุดสูงสุดของวัฏจักรในเดือนต.ค. 2022 เป็นต้นมา ทางด้านนักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์คาดไว้ก่อนหน้านี้ว่า อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษอาจอยู่ที่ 2.2% ในเดือนต.ค.
รายงานระบุว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของอังกฤษเร่งตัวขึ้นด้วยเช่นกัน โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหาร, พลังงาน, เหล้า และบุหรี่ เร่งตัวขึ้นสู่ 3.3% ในเดือนต.ค. จาก 3.2% ในเดือนก.ย. ส่วนอัตราเงินเฟ้อในภาคบริการ ซึ่งบีโออีมองว่าเป็นมาตรวัดสำคัญสำหรับภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศ เร่งตัวขึ้นสู่ 5.0% ในเดือนต.ค. จาก 4.9% ในเดือนก.ย. ทั้งนี้ นายเจมส์ สมิธ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของมูลนิธิเรโซลูชันระบุว่า มีการคาดการณ์กันไว้แล้วว่าอัตราเงินเฟ้ออาจเร่งตัวขึ้นในเดือนต.ค. เพราะว่าผลกระทบจากการร่วงลงของราคาพลังงานในปีที่แล้วได้จางหายไป และมีการปรับขึ้นเพดานค่าพลังงานในเดือนต.ค.ปีนี้ และเขากล่าวเสริมว่า "การปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป, อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน และอัตราเงินเฟ้อในภาคบริการ ถือเป็นข่าวร้าย 3 ข่าวสำหรับภาคครัวเรือนและสำหรับผู้กำหนดนโยบายของอังกฤษ"
บีโออีคาดการณ์ในตอนนี้ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจจะปรับขึ้นสู่ 2.4% ในเดือนพ.ย. และ 2.5% ในเดือนพ.ย. และอาจจะแตะระดับ 3% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2025 ทางด้านนักเศรษฐศาสตร์ภาคเอกชนบางรายคาดว่า อัตราเงินเฟ้ออาจจะพุ่งขึ้นเข้าใกล้ระดับ 3% ในช่วงต้นปี 2025 ทั้งนี้ บีโออีระบุว่า งบประมาณฉบับแรกของรัฐบาลใหม่ของอังกฤษอาจจะมีส่วนหนุนอัตราเงินเฟ้อในปีหน้า ในขณะที่มาตรการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าในวงกว้างของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ส่งผลให้แนวโน้มในอนาคตเผชิญกับความไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้น
โมนิกา จอร์จ มิคาอิล ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์ในสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของอังกฤษ (NIESR) ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยของอังกฤษอาจจะอยู่ในระดับสูงต่อไปเป็นเวลานาน และเธอกล่าวเสริมว่า "การคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนี้เป็นผลมาจากการคาดการณ์ที่ว่า แรงกดดันเงินเฟ้อจะได้รับแรงหนุนจากงบประมาณอังกฤษที่เพิ่งประกาศออกมา และเป็นผลจากความไม่แน่นอนในตลาดโลก โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของนายโดนัลด์ ทรัมป์" ทั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ได้ให้สัญญาว่าจะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ฝ่ายนายจ้างได้โจมตีรัฐบาลอังกฤษในเรื่องมาตรการปรับขึ้นภาษีการจ้างงานตั้งแต่เดือนเม.ย.ปีหน้าเป็นต้นไป ทางด้านบีโออีระบุว่า มาตรการดังกล่าวอาจจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น และส่งผลให้การจ้างงานปรับลดลง
รายงานที่ออกมาในสัปดาห์ที่แล้วระบุว่า ค่าแรงในอังกฤษปรับขึ้นในอัตราที่เชื่องช้าที่สุดในรอบกว่า 2 ปีในช่วง 3 เดือนสิ้นสุดเดือนก.ย. แต่นายฮูว พิลล์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบีโออีระบุว่า อัตราการปรับขึ้นค่าแรงยังคงอยู่ในระดับที่สูงเกินไปสำหรับบีโออี ทางด้านนักลงทุนคาดการณ์ในวันพุธว่า บีโออีอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงรวมกันเพียงราว 0.60% นับตั้งแต่ช่วงนี้จนถึงสิ้นปี 2025 ซึ่งเท่ากับว่าบีโออีอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเพียง 2-3 ครั้ง ทั้งนี้ รายงานระบุว่าแรงกดดันเงินเฟ้อบางส่วนชะลอตัวลง โดยราคาสินค้าที่ภาคโรงงานเรียกเก็บจากลูกค้าดิ่งลง 0.8% ในเดือนต.ค.เมื่อเทียบรายปี ซึ่งถือเป็นการดิ่งลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2020 หรือครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 4 ปี--จบ--
Eikon source text
(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)
((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;