ReutersReuters

FED:โพลล์คาดเฟดลดดบ.ในธ.ค.,คาดดบ.อยู่ที่ 3.50-3.75% สิ้นปีหน้า

เบงกาลูรู--21 พ.ย.--รอยเตอร์

  • รอยเตอร์ได้สำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ในวันที่ 12-20 พ.ย. และได้เปิดเผยผลสำรวจออกมาในวันพุธ โดยผลสำรวจระบุว่า นักเศรษฐศาสตร์ 94 จาก 106 ราย หรือนักเศรษฐศาสตร์ 89% ในโพลล์รอยเตอร์คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ 4.25%-4.50% ในการประชุมวันที่ 17-18 ธ.ค. ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ที่เหลืออีก 12 รายคาดว่า เฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 4.50-4.75% ตามเดิมในการประชุมเดือนธ.ค. โดยจำนวนนักเศรษฐศาสตร์ 12 รายที่คาดการณ์แบบนี้เพิ่มขึ้นจากจำนวนเพียง 3 รายในโพลล์เดือนที่แล้ว ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ปรับลดการคาดการณ์เรื่องแนวโน้มในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าเมื่อเทียบกับที่เคยคาดไว้เมื่อหนึ่งเดือนก่อน โดยเป็นผลจากความเสี่ยงที่นโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ อาจจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ในตอนนี้ว่า อัตราดอกเบี้ย fed funds จะอยู่ที่ 3.50%-3.75% ในช่วงสิ้นปี 2025 หากวัดจากค่ากลางของโพลล์ ซึ่งสูงกว่าระดับ 3.00%-3.25% ที่เคยคาดไว้เมื่อหนึ่งเดือนก่อน และนักเศรษฐศาสตร์ยังคาดการณ์อีกด้วยว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งละ 0.25% ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2025 ก่อนที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมในไตรมาส 4/2025

  • นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์แตกต่างกันไปเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในปี 2025 โดยนักเศรษฐศาสตร์ 29 จาก 99 ราย หรือเกือบ 30% ของโพลล์คาดว่า อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 3.75%-4.00% หรือสูงกว่านั้นในช่วงสิ้นปี 2025 แต่นักเศรษฐศาสตร์ 28 รายคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 3.50%-3.75% ในช่วงสิ้นปี 2025 ซึ่งเท่ากับว่าอัตราดอกเบี้ยในช่วงสิ้นปีหน้าจะอยู่สูงกว่าระดับอัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลาง หรืออัตราดอกเบี้ยที่ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจและไม่ถ่วงเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลง โดยเฟดประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลางอยู่ที่ระดับราว 2.9% ทั้งนี้ หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐเติบโต 2.8% เมื่อเทียบเป็นตัวเลขเต็มปี (annualized) ในไตรมาสสาม โพลล์รอยเตอร์ก็คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะเติบโต 2.7% ในปีนี้, 2% ในปี 2025 และ 2% ในปี 2026 ในขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดประเมินว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่กระตุ้นภาวะเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับราว 1.8%

  • นักลงทุนในตลาดคาดการณ์ในตอนนี้ว่า มีโอกาส 53.2% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ 4.25-4.50% ในการประชุมวันที่ 17-18 ธ.ค. โดยปรับลดลงจากโอกาส 82.5% ที่เคยคาดไว้เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อน และนักลงทุนยังคาดการณ์ในตอนนี้อีกด้วยว่า มีโอกาส 46.8% ที่เฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 4.50-4.75% ตามเดิมในการประชุมวันที่ 17-18 ธ.ค. และนักลงทุนคาดว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงรวมกันเพียง 0.73% ตั้งแต่ช่วงนี้จนถึงสิ้นปี 2025 ทั้งนี้ มีปัจจัยหลายอย่างที่อาจจะสกัดกั้นเฟดไม่ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างรวดเร็ว โดยปัจจัยเหล่านี้รวมถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในสหรัฐ, อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงได้ยาก และตลาดหุ้นสหรัฐที่เคลื่อนตัวอยู่ใกล้สถิติสูงสุด ทางด้านนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดเพิ่งกล่าวในสัปดาห์ที่แล้วว่า "เศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้ส่งสัญญาณใด ๆ ที่บ่งชี้ว่า เราจำเป็นจะต้องรีบร้อนปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง"

  • โพลล์คาดว่า ดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งถือเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดนิยมใช้ จะยังคงอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% ในช่วงเวลาส่วนใหญ่จนถึงปี 2027 โดยโพลล์คาดว่า อัตราเงินเฟ้อของดัชนี PCE อาจจะอยู่ที่ 2.4% ในไตรมาส 4/2024, 2.1% ในไตรมาส 1/2025, 2.0% ในไตรมาส 2/2025, 2.2% ในไตรมาส 3/2025 และ 2.2% ในไตรมาส 4/2025 นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ 57 จาก 67 ราย หรือ 85% ของโพลล์ยังระบุอีกด้วยว่า มีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นที่จะเกิดภาวะเงินเฟ้ออีกครั้งในปีหน้า ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่า นายทรัมป์จะประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรในช่วงต้นปีหน้า และนักเศรษฐศาสตร์ 44 จาก 51 รายคาดว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

  • นายสตีเฟน จูโน นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐของธนาคารแบงก์ ออฟ อเมริกากล่าวว่า "เรายังคงคาดว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนธ.ค. เพราะเราคิดว่าตัวเลขเศรษฐกิจจะปรับตัวตามคาด แต่ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายว่าเพราะเหตุใดนักลงทุนจึงมองว่า มีโอกาสเกือบ 50% ที่เฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค. เพราะว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะแข็งแกร่งมาก และอัตราเงินเฟ้อก็ยังคงอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมาย" นอกจากนี้ ธนาคารแบงก์ ออฟ อเมริกายังคาดการณ์อีกด้วยว่า อัตราดอกเบี้ยขั้นสุดท้ายในวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดรอบนี้จะอยู่ที่ 3.75%-4.00% โดยปรับขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 3.00%-3.25% ทั้งนี้ นายฟิลิป มาเรย์ นักยุทธศาสตร์การลงทุนของธนาคารราโบแบงก์ระบุว่า "การเก็บภาษีนำเข้าถ้วนหน้า และการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีน มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อดีดสูงขึ้น" และเขากล่าวเสริมว่า "การว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ และเมื่อสหรัฐปรับเพิ่มความมั่นคงด้านพรมแดนในอนาคต สิ่งนี้ก็จะใช้เวลาไม่นานในการทำให้ค่าแรงในสหรัฐพุ่งสูงขึ้น และปัจจัยนี้จะสนับสนุนการคาดการณ์ของเราที่ว่า เฟดจะยุติวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2025"--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้

ข่าวเพิ่มเติมจาก Reuters

ข่าวเพิ่มเติม