JAPAN:นักลงทุนคาดการดิ่งลงของเยนจะส่งผลให้บีโอเจขึ้นดบ.
สิงคโปร์--19 พ.ย.--รอยเตอร์
นักลงทุนกำลังลงทุนตามการคาดการณ์ที่ว่า การดิ่งลงของเยนจะส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยนักลงทุนกลุ่มนี้ได้ขายชอร์ตเซลพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB), เข้าซื้อหุ้นกลุ่มธนาคาร และคาดการณ์ว่าบีโอเจอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 19 ธ.ค. ทั้งนี้ นักลงทุนกำลังจับตาดูความเคลื่อนไหวของบีโอเจในช่วงนี้ เพราะว่าบีโอเจเคยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค.ปีนี้ในช่วงที่ธนาคารกลางหลายแห่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของบีโอเจในครั้งนั้นก็ส่งผลให้เยนพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง และส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกระบายการทำ carry trade โดยใช้เงินเยนออกมา ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะปั่นป่วนวุ่นวายในตลาดการเงินทั่วโลกในช่วงนั้น
ดอลลาร์/เยนอยู่ที่ 154.56 เยนในวันนี้ ซึ่งอยู่ใกล้กับระดับที่เคยส่งผลให้ทางการญี่ปุ่นเข้ามาแทรกแซงตลาด ดังนั้นนักลงทุนจึงพยายามรับมือกับความเสี่ยงในช่วงนี้ โดยนักลงทุนได้ปรับเพิ่มสถานะการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร เพราะว่าหุ้นกลุ่มธนาคารจะได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ดีลเลอร์กล่าวว่า กองทุนเฮดจ์ฟันด์บางแห่งได้ลงทุนตามการคาดการณ์ที่ว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) จะพุ่งสูงขึ้น โดยนักลงทุนเคยคาดการณ์ในช่วงปลายเดือนต.ค.ว่า มีโอกาสน้อยมากที่บีโอเจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนธ.ค. แต่นักลงทุนคาดการณ์ในตอนนี้ว่า มีโอกาส 46% ที่บีโอเจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ 0.50% ในการประชุมวันที่ 19 ธ.ค.
หลังจากสหรัฐจัดการเลือกตั้งเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารของญี่ปุ่นก็พุ่งขึ้นมาแล้วราว 13% ถึงแม้ดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นโดยรวมทรงตัว ทางด้านดัชนีหุ้นกลุ่มส่งออกโดยเฉพาะหุ้นกลุ่มวัฏจักรเศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็พุ่งขึ้นเช่นกัน ซึ่งรวมถึงหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมและหุ้นกลุ่มเครื่องจักรด้วย ทั้งนี้ นายจอร์จ เอฟสตาโธปูลอส ผู้จัดการกองทุนในบริษัทฟิเดลิที อินเตอร์เนชันแนลกล่าวว่า "เรามุ่งความสนใจไปยังหุ้นบริษัทขนาดกลางของญี่ปุ่น และหุ้นกลุ่มธนาคารของญี่ปุ่น" เพราะว่าหุ้นบริษัทขนาดกลางมักจะได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าแรง และหุ้นกลุ่มธนาคารมักจะได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเขากล่าวเสริมว่า "เราปรับเพิ่มมุมมองในทางบวกต่อหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นในวงกว้างด้วย เพราะว่าการอ่อนค่าของเยนน่าจะส่งผลให้บริษัทเหล่านี้มีผลกำไรที่ดีขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจโลกเร่งความเร็วในการเติบโตขึ้นอีกครั้ง"
เยนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นและตลาดหุ้นญี่ปุ่น และเยนก็ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าด้วย ในขณะที่ต้นทุนการนำเข้าจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายการเงินของบีโอเจ โดยเยนดิ่งลงมาแล้วกว่า 30% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐนับตั้งแต่ต้นปี 2021 เป็นต้นมา ทั้งนี้ นักลงทุนคาดว่า การดิ่งลงของเยนจะเป็นการกดดันให้บีโอเจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเวลาที่เร็วกว่าเดิม โดยนายนาธาน สวามี หัวหน้าฝ่ายค้าสกุลเงินเอเชีย-แปซิฟิกของซิตี้กรุ๊ประบุว่า "เมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวของเยนในระยะนี้ บีโอเจก็อาจจะมีความจำเป็นต้องประเมินใหม่ว่า บีโอเจจำเป็นจะต้องดำเนินการแบบสายเหยี่ยวมากยิ่งขึ้นในการประชุมครั้งต่อ ๆ ไปหรือไม่"
ข้อมูลจากคณะกรรมการการค้าสัญญาล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ของสหรัฐ (CFTC) ระบุว่า นักเก็งกำไรได้ปรับเพิ่มการถือครองสถานะขายในเยนในช่วงที่ผ่านมา โดยสถานะขายสุทธิเยน/ดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 64,902 สัญญาในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 พ.ย. โดยพุ่งขึ้นจาก 44,167 สัญญาในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 พ.ย. ทั้งนี้ เยนยังคงได้รับแรงกดดันจากปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงจากส่วนต่างที่ระดับ 3.75% ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 2 ปีกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 2 ปี --จบ--
Eikon source text
(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)
((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;