JAPAN:จับตาบีโอเจเผยรายงานวิเคราะห์นโยบายผ่อนคลาย 19 ธ.ค.
โตเกียว--19 พ.ย.--รอยเตอร์
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะเปิดเผยรายงานวิเคราะห์ข้อดีและข้อเสียของเครื่องมือต่าง ๆ ที่บีโอเจเคยใช้ในการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินฝืดมาเป็นเวลานาน 25 ปี โดยบีโอเจจะเปิดเผยรายงานดังกล่าวหลังการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันที่ 18-19 ธ.ค. และนักวิเคราะห์บางรายก็คาดว่า บีโอเจอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากระดับ 0.25% ในปัจจุบันในวันที่ 19 ธ.ค.ด้วย ทั้งนี้ บีโอเจเคยระบุไว้แล้วว่า การเปิดเผยผลการพิจารณาทบทวนนี้จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการกำหนดนโยบายการเงินในระยะอันใกล้นี้ แต่ก็มีแนวโน้มว่า ผลการพิจารณาทบทวนดังกล่าวจะครอบคลุมถึงผลสำรวจต่าง ๆ ที่บีโอเจสามารถนำมาใช้สนับสนุนแผนการของบีโอเจในการปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติต่อไป โดยผลการพิจารณาทบทวนนี้จะถือเป็นความพยายามครั้งแรกของบีโอเจในการวิเคราะห์ในเชิงลึกต่อข้อเสียของการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมาเป็นเวลานานด้วย
มีแนวโน้มว่า รายงานทบทวนดังกล่าวจะแสดงให้เห็นว่า ธนาคารกลางมีอำนาจเพียงในวงจำกัดในการปรับเปลี่ยนความเห็นของสาธารณชนที่มีต่อความเคลื่อนไหวของราคาในอนาคต ซึ่งจะเห็นได้จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ อดีตผู้ว่าการบีโอเจ ซึ่งเป็นมาตรการที่มีจุดประสงค์เพื่อยุติกรอบความคิดแบบเงินฝืดของญี่ปุ่น โดยรายงานฉบับนี้จะแสดงให้เห็นว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของนายคุโรดะได้ช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน แต่ส่งผลบวกต่ออัตราเงินเฟ้อเพียงแค่ราว 0.7% เท่านั้น ซึ่งเป็นระดับที่ไม่มากพอที่จะบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของบีโอเจ ทั้งนี้ การพิจารณาทบทวนนี้เป็นโครงการที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อนายคาสุโอะ อุเอดะ เข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการบีโอเจในเดือนเม.ย. 2023 โดยรายงานทบทวนนี้อาจจะส่งสัญญาณบ่งชี้ว่าบีโอเจจะเลือกใช้เครื่องมือใด และจะไม่เลือกใช้เครื่องมือใดในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในอนาคต นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้อาจจะบ่งชี้อีกด้วยว่า บีโอเจจะมุ่งความสนใจไปยังปัจจัยเสี่ยงตัวใด ในขณะที่บีโอเจยังคงปรับลดขนาดการเข้าซื้อสินทรัพย์ลง และยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป
นายอุเอดะเพิ่งกล่าวในงานแถลงข่าวในวันที่ 31 ต.ค.ว่า "เราหวังที่จะนำเสนอข้อมูลที่จะกลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์เมื่อมีการพิจารณาเรื่องนโยบายการเงินที่พึงปรารถนาในระยะยาว" ทั้งนี้ รายงานทบทวนฉบับนี้อาจจะเป็นคู่มือที่มีประโยชน์สำหรับธนาคารกลางในประเทศอื่น ๆ ด้วย เพราะรายงานฉบับนี้จะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้ในการผ่อนคลายนโยบายการเงินมากเป็นพิเศษ และประสิทธิภาพของเครื่องมือแต่ละอัน หลังจากบีโอเจได้กลายเป็นผู้บุกเบิกในการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ย 0% และมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อรับมือกับภาวะเงินฝืดที่ดำเนินมาเป็นเวลานาน 25 ปี
ธนาคารกลางในประเทศอื่น ๆ ได้หันมาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษตามหลังบีโอเจ เพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินโลกปี 2008 และวิกฤติโรคระบาดเมื่อไม่กี่ปีก่อน แต่ธนาคารกลางในประเทศอื่น ๆ สามารถยุตินโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเศรษฐกิจในประเทศของตนเริ่มฟื้นตัวขึ้น ทั้งนี้ นโยบายของบีโอเจที่ก่อให้เกิดกระแสความเห็นขัดแย้งมากที่สุดคือมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ขนาดใหญ่ที่บีโอเจเริ่มใช้ในปี 2013 ในยุคของนายคุโรดะ โดยในเวลาต่อมาบีโอเจได้ดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ และมาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) ด้วย
ก่อนหน้านี้บีโอเจเคยดำเนินการพิจารณาทบทวนมาแล้ว 2-3 ครั้งในเรื่องผลข้างเคียงจากการดำเนินนโยบายผ่อนคลายมาเป็นเวลานาน แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นการพิจารณาเพื่อต่ออายุมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกไป อย่างไรก็ดี การพิจารณาทบทวนครั้งใหม่นี้จะเน้นย้ำเรื่องข้อเสียที่สำคัญ ซึ่งรวมถึงการที่มาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ขนาดใหญ่ และมาตรการ YCC สร้างความเสียหายต่อประสิทธิภาพการทำกำไรในภาคธนาคาร และบีบบังคับให้สถาบันการเงินต้องปรับเพิ่มการปล่อยกู้แบบเสี่ยงสูง ซึ่งรวมถึงการปล่อยกู้ต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ รายงานทบทวนครั้งใหม่นี้จะครอบคลุมถึงผลสำรวจเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในญี่ปุ่นซึ่งเป็นปัจจัยที่เปิดโอกาสให้บีโอเจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ด้วย โดยผลสำรวจเหล่านี้รวมถึงผลสำรวจของบีโอเจสาขาต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากยิ่งขึ้นมองการปรับขึ้นราคาและการปรับขึ้นค่าแรงในทางบวกมากกว่าในอดีต --จบ--
Eikon source text
(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)
((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;