ReutersReuters

FED:ปธ.เฟดแอตแลนตาชี้เฟดยังคงกังวลกับภาวะเงินเฟ้อ

24 พ.ค.--รอยเตอร์

  • นายราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตากล่าวในวันพฤหัสบดีว่า เฟดอาจจะมีความจำเป็นต้องรอคอยต่อไปเป็นเวลานานยิ่งขึ้น ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพราะว่าถึงแม้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐชะลอตัวลงเล็กน้อยในเดือนเม.ย. ราคาก็ยังคงได้รับแรงหนุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เขากล่าวว่า "เรายังไม่ได้ผ่านพ้นความกังวลที่มีต่อภาวะเงินเฟ้อ" และเขาตั้งข้อสังเกตว่า สัดส่วนของสินค้าที่มีราคาพุ่งขึ้นสูงกว่า 3% และสัดส่วนของสินค้าที่มีราคาทะยานขึ้นสูงกว่า 5% ต่างก็อยู่สูงกว่าระดับปกติในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ชะลอตัวลงในเดือนเม.ย.ก็ตาม

  • นายบอสติกกล่าวว่า ตลาดแรงงานแทบไม่ได้ส่งสัญญาณถึงความอ่อนแอ และเขากล่าวเสริมว่า "การจ้างงานเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมา และสิ่งนี้บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีความแข็งแกร่งเป็นอย่างมาก และสิ่งนี้ก็ทำให้ผมสบายใจที่จะยังคงใช้อัตราดอกเบี้ยในระดับที่เข้มงวดต่อไป เพราะผมไม่คิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเผชิญความเสี่ยงที่จะหดตัวลงในช่วงนี้"

  • นายบอสติกมักจะแสดงความเห็นแบบสายเหยี่ยวอยู่แล้วในช่วงที่ผ่านมา และผู้กำหนดนโยบายบางคนของเฟดก็หันมาแสดงความเห็นแบบเดียวกับเขาในช่วงนี้ หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่สูงเกินคาดในเดือนม.ค.-มี.ค. โดยปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ผู้กำหนดนโยบายของเฟดกลุ่มนี้มองว่า เฟดจะมีความจำเป็นต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% ต่อไปเป็นเวลานานเกินคาด

  • นายบอสติกเคยกล่าวว่า เขาเชื่อว่าเฟดอาจจะมีความจำเป็นต้องเลื่อนกำหนดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไปจนกว่าจะถึงไตรมาส 4 ของปีนี้ เพราะเขาได้ยินจากเจ้าของธุรกิจบางรายว่า เจ้าของธุรกิจจะยังไม่นำเงินทุนออกมาลงทุน จนกว่าอัตราดอกเบี้ยจะมีความน่าดึงดูดมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นายบอสติกกล่าวในวันพฤหัสบดีว่า "สิ่งนี้อาจจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจพุ่งสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคขัดขวางเป้าหมายของเรา" และเขากล่าวเสริมว่า "ผมได้นำเรื่องนี้มาพิจารณาแล้ว และผมก็คิดว่าเราจำเป็นจะต้องใช้ความอดทนต่อไป และจะต้องรอให้มั่นใจก่อนว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะบรรลุระดับเป้าหมายที่ 2%" ก่อนที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย

  • นายบอสติกกล่าวว่า เขาจะไม่พิจารณาเรื่องการปรับเปลี่ยนเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของเฟดที่ 2% จนกว่าเฟดจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว แต่เมื่อใดก็ตามที่เฟดสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้แล้ว นั่นก็อาจจะถึงเวลาที่จะมีการหารือกันว่า เฟดจำเป็นจะต้องกำหนดเกณฑ์อ้างอิงใหม่หรือไม่ เนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไปนับตั้งแต่เกิดวิกฤติโรคระบาดเป็นต้นมา ซึ่งอาจจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่สูงกว่าเดิม ทั้งนี้ นายบอสติกกล่าวว่า เฟดจะเริ่มต้นการพิจารณาทบทวนกรอบการทำงานใหม่ในปี 2025 และอาจจะมีการพิจารณาประเด็นดังกล่าวนี้ด้วย--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้