ReutersReuters

USA:ดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจในสหรัฐพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุด 2 ปี

วอชิงตัน--24 พ.ค.--รอยเตอร์

  • บริษัทเอสแอนด์พี โกลบอลรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) โดยรวมของสหรัฐ ซึ่งครอบคลุมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ พุ่งขึ้นจาก 51.3 ในเดือนเม.ย. สู่ 54.4 ในเดือนพ.ค. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2022 หรือจุดสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี โดยดัชนีที่ระดับสูงกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนขยายตัว และรายงานนี้ก็บ่งชี้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในสหรัฐอาจปรับสูงขึ้นในช่วงกลางไตรมาสสอง นอกจากนี้ เอสแอนด์พี โกลบอลยังระบุอีกด้วยว่า ดัชนีราคาปัจจัยการผลิตในภาคโรงงานสหรัฐพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดในรอบ 1 ปีครึ่ง ในขณะที่ราคาปัจจัยการผลิตทะยานขึ้นในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงราคาโลหะ, เคมีภัณฑ์, พลาสติก, ผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป, พลังงาน และต้นทุนแรงงาน และสิ่งนี้บ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อของภาคสินค้าอาจจะเร่งตัวขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้นักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์คาดว่า ดัชนี PMI โดยรวมของสหรัฐอาจอยู่ที่ 51.1 ในเดือนพ.ค.

  • การพุ่งขึ้นของดัชนี PMI โดยรวมในครั้งนี้ได้รับแรงหนุนมาจากการทะยานขึ้นของภาคบริการ โดยดัชนี PMI ภาคบริการพุ่งขึ้นจาก 51.3 ในเดือนเม.ย. สู่ 54.8 ในเดือนพ.ค. ทางด้านดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐปรับขึ้นจาก 50.0 ในเดือนเม.ย. สู่ 50.9 ในเดือนพ.ค. ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐเพิ่งปรับขึ้นเพียง 1.6% ในไตรมาสแรกเมื่อเทียบเป็นตัวเลขเต็มปี (annualized) โดยได้รับแรงกดดันจากการพุ่งขึ้นของยอดนำเข้า

  • ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่ออกมาในช่วงก่อนหน้านี้บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงในช่วงต้นไตรมาสสอง ซึ่งรวมถึงตัวเลขยอดค้าปลีก, ยอดการเริ่มต้นสร้างบ้านใหม่, ยอดการอนุญาตก่อสร้างบ้าน, การผลิตภาคอุตสาหกรรม และตัวเลขตลาดแรงงานของเดือนเม.ย. ทั้งนี้ นายคริส วิลเลียมสัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธุรกิจของบริษัทเอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์กล่าวว่า "ความเชื่อมั่นทางธุรกิจได้เพิ่มสูงขึ้นแล้ว และสิ่งนี้บ่งชี้ถึงแนวโน้มที่สดใสขึ้นสำหรับช่วงต่อไปในปีนี้ อย่างไรก็ดี บริษัทหลายแห่งยังคงกังวลกับแนวโน้มเศรษฐกิจ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่ไม่แน่นอน และบริษัทต่าง ๆ ก็ยังคงกังวลกับความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศและการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐด้วย"

  • เอสแอนด์พี โกลบอลรายงานว่า ดัชนียอดสั่งซื้อใหม่ในภาคเอกชนสหรัฐพุ่งขึ้นจาก 49.1 ในเดือนเม.ย. สู่ 51.7 ในเดือนพ.ค. แต่การจ้างงานในสหรัฐยังคงหดตัวลงในเดือนพ.ค.เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน แต่อัตราการหดตัวได้ชะลอตัวลงในเดือนพ.ค. ทั้งนี้ ต้นทุนการจ้างงานที่สูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนในภาคบริการปรับสูงขึ้น และบริษัทหลายแห่งก็ผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไปให้แก่ลูกค้าด้วยการปรับขึ้นราคาขาย

  • นายวิลเลียมสันกล่าวว่า "สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า ปัจจัยหลักที่กระตุ้นเงินเฟ้อในตอนนี้มาจากภาคโรงงานแทนที่จะเป็นภาคบริการ และนั่นหมายความว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งในส่วนของต้นทุนและราคาขายทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการต่างก็อยู่สูงในตอนนี้เมื่อเทียบกับมาตรฐานของช่วงก่อนเกิดวิกฤติโรคระบาด และสิ่งนี้บ่งชี้ว่า ขั้นตอนสุดท้ายในการทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐชะลอตัวลงสู่ระดับเป้าหมายที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตั้งไว้ที่ 2% ยังคงเป็นเรื่องยาก"--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้