ReutersReuters

MORNING BRIEF:สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ

กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--รอยเตอร์

  • ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับยูโรและเยนในวันพฤหัสบดี หลังจากบริษัทเอสแอนด์พี โกลบอลรายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) โดยรวมของสหรัฐ ซึ่งครอบคลุมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ พุ่งขึ้นจาก 51.3 ในเดือนเม.ย. สู่ 54.4 ในเดือนพ.ค. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2022 หรือจุดสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี โดยดัชนีที่ระดับสูงกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนขยายตัว และรายงานนี้ก็บ่งชี้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในสหรัฐอาจปรับสูงขึ้นในช่วงกลางไตรมาสสอง ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐร่วงลง 8,000 ราย สู่ 215,000 รายในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 พ.ค. ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ 220,000 ราย โดยรายงานนี้บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และปัจจัยนี้น่าจะช่วยหนุนเศรษฐกิจสหรัฐได้ต่อไป Eikon source text

    ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 105.06 ในช่วงท้ายตลาดวันพฤหัสบดี โดยแข็งค่าขึ้นจาก 104.91 ในช่วงท้ายตลาดวันพุธ

    ดอลลาร์/เยนอยู่ที่ 156.93 เยนในช่วงท้ายตลาดวันพฤหัสบดี โดยปรับขึ้นจากระดับปิดตลาดวันพุธที่ 156.77 เยน

    ยูโร/ดอลลาร์อยู่ที่ 1.0813 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี โดยอ่อนค่าลงจาก 1.0821 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันพุธ หลังจากพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดของวันที่ 1.0861 ดอลลาร์ และปรับขึ้นเข้าใกล้จุดสูงสุดรอบ 2 เดือนที่เคยทำไว้ในช่วงกลางเดือนพ.ค.ที่ 1.0895 ดอลลาร์

  • ตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลงในวันพฤหัสบดี โดยได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่กระตุ้นความกังวลเรื่องภาวะเงินเฟ้อ และกระตุ้นให้นักลงทุนกังวลว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะเลื่อนกำหนดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไป โดยบริษัทเอสแอนด์พี โกลบอลรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) โดยรวมของสหรัฐ ซึ่งครอบคลุมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ พุ่งขึ้นจาก 51.3 ในเดือนเม.ย. สู่ 54.4 ในเดือนพ.ค. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2022 หรือจุดสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี นอกจากนี้ เอสแอนด์พี โกลบอลยังระบุอีกด้วยว่า ดัชนีราคาปัจจัยการผลิตในภาคโรงงานสหรัฐพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดในรอบ 1 ปีครึ่ง ในขณะที่ราคาปัจจัยการผลิตทะยานขึ้นในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงราคาโลหะ, เคมีภัณฑ์, พลาสติก, ผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป, พลังงาน และต้นทุนแรงงาน โดยตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาในวันพฤหัสบดีมีส่วนกระตุ้นให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีปรับขึ้นจาก 4.434% ในช่วงท้ายวันพุธ สู่ 4.475% ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี และปัจจัยนี้ส่งผลลบเป็นอย่างมากต่อหุ้นบริษัทขนาดเล็กของสหรัฐ ทางด้านนักลงทุนคาดการณ์ในวันพฤหัสบดีว่า มีโอกาสเพียง 52.2% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. โดยปรับลดลงจากโอกาสเกือบ 67% ที่เคยคาดไว้เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐปิดบวกขึ้น 0.56% และถือเป็นดัชนีหุ้นกลุ่มใหญ่เพียงกลุ่มเดียวจากทั้งหมด 11 กลุ่มของสหรัฐที่ปิดตลาดวันพฤหัสบดีในแดนบวก โดยดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีได้รับแรงหนุนจากหุ้นบริษัทเอ็นวิเดียที่ปิดพุ่งขึ้น 9.32% สู่สถิติระดับปิดสูงสุดใหม่ที่ 1,037.99 ดอลลาร์ หลังจากเอ็นวิเดียคาดการณ์รายได้รายไตรมาสที่แข็งแกร่งเกินคาดในช่วงเย็นวันพุธ และเผยแผนแตกหุ้น อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐปิดขยับลง 0.02% และดัชนีหุ้นบริษัทขนาดเล็กของสหรัฐปิดดิ่งลง 1.6% ซึ่งถือเป็นการดิ่งลงรายวันครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. นอกจากนี้ ดัชนีดาวโจนส์ก็ได้รับแรงกดดันจากหุ้นบริษัทโบอิ้งที่ดิ่งลง 7.55% ด้วย หลังจากโบอิ้งคาดการณ์ว่าจะมีกระแสเงินสดอิสระติดลบในปี 2024 Eikon source text

    ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดดิ่งลง 1.53% สู่ 39,065.26 ซึ่งถือเป็นการดิ่งลงรายวันครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. 2023

    ดัชนี S&P 500 ปิดร่วงลง 0.74% สู่ 5,267.84 หลังจากพุ่งขึ้นแตะสถิติสูงสุดใหม่ได้ในระหว่างวัน

    ดัชนี Nasdaq ปิดปรับลง 0.39% สู่ 16,736.03 หลังจากพุ่งขึ้นแตะสถิติสูงสุดใหม่ได้ในระหว่างวัน

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX ร่วงลงเป็นวันที่ 4 ติดต่อกันในวันพฤหัสบดี ในขณะที่นักลงทุนกังวลกับแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงต่อไปเป็นเวลานาน ซึ่งจะส่งผลลบต่ออุปสงค์น้ำมันในสหรัฐ โดยความกังวลดังกล่าวของนักลงทุนได้รับแรงกระตุ้นมาจากรายงานของบริษัทเอสแอนด์พี โกลบอลที่แสดงให้เห็นว่า ราคาปัจจัยการผลิตในภาคโรงงานสหรัฐพุ่งสูงขึ้น และสิ่งนี้บ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อของภาคสินค้าอาจจะเร่งตัวขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็ได้เปิดเผยรายงานการประชุมกำหนดนโยบายประจำวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค.ออกมาในวันพุธ และรายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่เฟดผิดหวังกับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในระยะนี้ และเจ้าหน้าที่เฟดยังไม่แน่ใจว่า อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูงมากพอที่จะสามารถควบคุมภาวะเงินเฟ้อได้หรือไม่ ทั้งนี้ ราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนเข้ามาบ้าง หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) รายงานในวันพุธว่า อุปสงค์น้ำมันเบนซินในสหรัฐพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2023 ในขณะที่ฤดูร้อนของสหรัฐกำลังจะเริ่มต้นขึ้นในวันเมโมเรียล เดย์ ซึ่งตรงกับวันจันทร์ที่ 27 พ.ค.ในปีนี้ โดยปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินในสหรัฐครองสัดส่วนราว 9% ของอุปสงค์น้ำมันทั่วโลก นอกจากนี้ นักลงทุนก็รอดูการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) ในวันที่ 1 มิ.ย.ด้วย Eikon source text

    ราคาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนก.ค.ร่วงลง 70 เซนต์ หรือ 0.9% มาปิดตลาดที่ 76.87 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งถือเป็นระดับปิดต่ำสุดในรอบ 3 เดือน

    ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ค.ที่ตลาดกรุงลอนดอนร่วงลง 54 เซนต์ หรือ 0.7% มาปิดตลาดที่ 81.36 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งถือเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.

  • ราคาทองสปอตที่ตลาดสหรัฐดิ่งลง 49.88 ดอลลาร์ หรือ 2.10% สู่ 2,328.37 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงท้ายตลาดวันพฤหัสบดี หลังจากดิ่งลงแตะ 2,326.79 ดอลลาร์ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. หรือจุดต่ำสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์ โดยราคาทองดิ่งลงเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน ในขณะที่นักลงทุนกังวลกับความแข็งแกร่งของกิจกรรมทางธุรกิจในสหรัฐ และกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะเลื่อนกำหนดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไป ทั้งนี้ ธนาคารยูบีเอสปรับขึ้นตัวเลขคาดการณ์ราคาทองสู่ 2,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์สำหรับช่วงสิ้ันปี 2024 และแนะให้เข้าช้อนซื้อทองที่ระดับราคา 2,300 ดอลลาร์หรือต่ำกว่านั้น เนื่องจากราคาทองได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐในเดือนเม.ย., จากความต้องการซื้อทองของธนาคารกลาง และจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ Eikon source text

--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้