ReutersReuters

JAPAN:โพลล์ชี้บ.ญี่ปุ่น 48% มองว่าดอลล์ที่สูงกว่า 155 เยนส่งผลลบ

โตเกียว--23 พ.ค.--รอยเตอร์

  • รอยเตอร์ได้เปิดเผยผลสำรวจออกมาในวันนี้ ซึ่งเป็นผลสำรวจที่จัดทำโดยบริษัทนิกเกอิ รีเสิร์ช และรวบรวมมาจากความเห็นของบริษัทญี่ปุ่น 229 แห่งในวันที่ 8-17 พ.ค. โดยผลสำรวจระบุว่า บริษัทญี่ปุ่น 48% มองว่าการที่ดอลลาร์พุ่งขึ้นเหนือ 155 เยนจะสร้างความเสียหายต่อธุรกิจของบริษัท ในขณะที่บริษัทญี่ปุ่น 25% มองว่าการอ่อนค่าของเยนส่งผลบวกหรือส่งผลบวกเป็นอย่างมากต่อธุรกิจของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทญี่ปุ่น 16% มองว่าการที่ดอลลาร์พุ่งขึ้นเหนือ 155 เยนส่งผลลบเป็นอย่างมากต่อธุรกิจ ในขณะที่บริษัทญี่ปุ่น 32% มองว่าการที่ดอลลาร์พุ่งขึ้นเหนือ 155 เยนส่งผลลบอยู่บ้างต่อธุรกิจ

  • ดอลลาร์/เยนเพิ่งพุ่งขึ้นแตะ 160.245 เยนในวันที่ 29 เม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1990 หรือจุดสูงสุดรอบ 34 ปี อย่างไรก็ดี มีการตั้งข้อสงสัยกันว่า ทางการญี่ปุ่นได้เข้ามาแทรกแซงตลาดเพื่อกดดันดอลลาร์/เยนในเวลาต่อมา จนส่งผลให้ดอลลาร์ดิ่งลงแตะ 151.86 เยนในวันที่ 3 พ.ค. และดอลลาร์ได้ดีดกลับขึ้นสู่ 156.75 เยนในวันนี้ โดยดอลลาร์/เยนพุ่งขึ้นมาแล้ว 11.1% จากช่วงต้นปีนี้ ทั้งนี้ โพลล์ระบุว่า บริษัทญี่ปุ่น 37% ต้องการให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับการอ่อนค่าของเยน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทเหล่านี้เต็มใจที่จะยอมรับต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นเพื่อหนุนค่าเงินเยน โดยก่อนหน้านี้บีโอเจเพิ่งตัดสินใจยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่เคยใช้มานาน 8 ปีในเดือนมี.ค.ปีนี้ นอกจากนี้ โพลล์ยังระบุอีกด้วยว่า บริษัท 34% ต้องการให้รัฐบาลญี่ปุ่นเข้ามาแทรกแซงในตลาดปริวรรตเงินตราเพื่อสกัดกั้นการดิ่งลงของเยน

  • ผู้จัดการบริษัทอาหารญี่ปุ่นแห่งหนึ่งระบุว่า "ผมมีความกังวลเป็นอย่างมากว่า ตลาดผู้บริโภคญี่ปุ่นอาจจะหดตัวลงเพราะการอ่อนค่าของเยน และเราอาจจะชินชากับเรื่องนี้" ทั้งนี้ ถึงแม้การอ่อนค่าของเยนส่งผลบวกต่อภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยวของญี่ปุ่่น การอ่อนค่าของเยนก็ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าพุ่งสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทะยานขึ้น และสร้างความยากลำบากแก่ภาคครัวเรือน

  • บริษัทญี่ปุ่น 30% ระบุว่า ดอลลาร์ที่ 140-149 เยนถือเป็นระดับที่พึงปรารถนา ในขณะที่บริษัทญี่ปุ่น 28% ระบุว่า ดอลลาร์ที่ 130-139 เยนถือเป็นระดับที่พึงปรารถนา แต่ไม่มีบริษัทแห่งใดเลยที่ระบุว่า ดอลลาร์ที่สูงกว่า 160 เยนถือเป็นระดับที่พึงปรารถนา ทั้งนี้ ในการรับมือกับการดิ่งลงของเยนนั้น บริษัทเกือบ 2 ใน 3 ระบุว่า ทางบริษัทจะพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นราคาสินค้า ในขณะที่บริษัท 16% ระบุว่า ทางบริษัทจะพิจารณาเรื่องการหันไปซื้อชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากภายในญี่ปุ่น แทนที่จะนำเข้าจากต่างประเทศ

  • เมื่อได้รับคำถามว่าญี่ปุ่นได้ออกจากภาวะเงินฝืดอย่างถาวรแล้วหรือไม่ บริษัทญี่ปุ่น 27% ก็ตอบว่าใช่ แต่บริษัทญี่ปุ่นราว 1 ใน 3 ตอบว่าไม่ใช่ ส่วนบริษัทญี่ปุ่นที่เหลืออีก 40% ตอบว่า เป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ ทั้งนี้ ผู้จัดการบริษัทค้าส่งแห่งหนึ่งระบุว่า "ในขั้นแรกนั้นเราจำเป็นจะต้องตอบให้ได้ก่อนว่า ภาวะเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในตอนนี้ได้รับแรงกระตุ้นมาจากต้นทุนที่สูงขึ้น หรือมาจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น" ทางด้านนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นตั้งความหวังว่า การปรับขึ้นค่าแรงครั้งใหญ่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะช่วยยุติภาวะเงินฝืดในญี่ปุ่นที่ดำเนินมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้