ReutersReuters

USA:ชี้ตลาดโลกอาจได้รับความเสียหายถ้าหากดอลล์พุ่งขึ้นต่อไป

ลอนดอน--21 พ.ค.--รอยเตอร์

  • นายฟรานเซสโก เกร์เรรา ผู้เขียนคอลัมน์ของรอยเตอร์ระบุในสัปดาห์ที่แล้วว่า ดอลลาร์พุ่งขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อย่างไรก็ดี ประเทศส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับความเสียหายจากการพุ่งขึ้นของดอลลาร์ในครั้งนี้ เพราะว่าหลายประเทศมีการบริหารการคลังอย่างรอบคอบ และมีหนี้สกุลเงินต่างประเทศในสัดส่วนที่น้อยกว่าในอดีต อย่างไรก็ดี นายเกร์เรราระบุว่า ถ้าหากดอลลาร์ยังคงพุ่งขึ้นต่อไป การพุ่งขึ้นของดอลลาร์ก็อาจจะสร้างความเสียหายต่อประเทศตลาดเกิดใหม่และต่อประเทศผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ได้ ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินพุ่งขึ้นมาแล้วราว 17% นับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา และแข็งค่าขึ้นมาแล้วราว 3.2% จากช่วงต้นปีนี้ ในขณะที่ดอลลาร์/เยนทะยานขึ้นมาแล้ว 10.77% จากช่วงต้นปีนี้ สู่ 156.25 เยนในปัจจุบัน, ดอลลาร์/โครนาสวีเดนพุ่งขึ้นมาแล้ว 6% จากช่วงต้นปีนี้ สู่ 10.68 โครนาสวีเดนในปัจุบัน, ดอลลาร์/หยวนทะยานขึ้นมาแล้ว 1.91% จากช่วงต้นปีนี้ และดอลลาร์/บาทพุ่งขึ้นมาแล้ว 5.76% จากช่วงต้นปีนี้ สู่ 36.33 บาทในปัจจุบัน

  • การพุ่งขึ้นของดอลลาร์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นผลมาจากความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของสหรัฐ (จีดีพี) เติบโตเฉลี่ย 3.4% ต่อปีนับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา ซึ่งถือว่าสูงกว่า 2 เท่าของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2006-2015 และอยู่สูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในช่วง 13 ปีก่อนเกิดวิกฤติโรคระบาดด้วย นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ระดับสูงก็กระตุ้นให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ 5.25-5.50% ในปีที่แล้ว ซึ่งส่งผลให้สินทรัพย์ในรูปดอลลาร์มีความน่าดึงดูดมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในวัฏจักรครั้งก่อน ๆ นั้น การพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งของดอลลาร์เคยสร้างความเสียหายต่อประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินในปี 1997 โดยในช่วงนั้นไทย, มาเลเซีย และอินโดนีเซียประสบความล้มเหลวในการปกป้องค่าเงินของประเทศตนเอง และความล้มเหลวดังกล่าวก็ส่งผลให้เกิดกระแสเงินลงทุนไหลออกเป็นจำนวนมาก และส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยเป็นเวลายาวนาน

  • นายเกร์เรราระบุว่า มีปัจจัยสำคัญ 2 ประการที่ส่งผลให้หลายประเทศไม่ได้รับความเสียหายมากนักในรอบนี้ โดยปัจจัยแรกก็คือว่า ภาวะเงินเฟ้อสูงที่เกิดจากวิกฤติโรคระบาดและสงครามยูเครนส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเวลาเดียวกัน ซึ่งช่วยสกัดกั้นความเสี่ยงจากกระแสเงินลงทุนไหลออก และธนาคารกลางบางแห่งก็ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนหน้าเฟดด้วย ซึ่งรวมถึงธนาคารกลางบราซิลที่เริ่มต้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. 2021 ในขณะที่เฟดเพิ่งเริ่มต้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. 2022 นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยของบราซิลก็อยู่ที่ 10.50% ในปัจจุบัน หรืออยู่ในระดับที่สูงเกือบถึง 2 เท่าของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ ทั้งนี้ ปัจจัยที่ 2 คือการที่ประเทศตลาดเกิดใหม่หลายประเทศบริหารการคลังได้ดียิ่งขึ้นในปัจจุบันนี้ ซึ่งรวมถึงการที่หลายประเทศหันมาพึ่งพาพันธบัตรสกุลเงินในประเทศ แทนที่จะเป็นพันธบัตรสกุลดอลลาร์เหมือนในอดีต โดยองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ระบุว่า หนี้สกุลเงินในประเทศครองสัดส่วน 95% ของหนี้สินใหม่ของรัฐบาลประเทศตลาดเกิดใหม่ซึ่งมีขนาด 3.9 ล้านล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว

  • สถานการณ์ดังกล่าวแตกต่างจากในอดีตเป็นอย่างมาก โดยรายงานวิจัยของธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ระบุว่า ในช่วงปี 1996 นั้น หนี้ระยะยาวเกือบ 1 ใน 3 ของไทยอยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่ข้อมูลจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) บ่งชี้ว่า หนี้ประเภทนี้ครองสัดส่วนต่ำกว่า 1% ในปัจจุบัน นอกจากนี้ หนี้สกุลเงินดอลลาร์ก็เคยครองสัดส่วน 69% ของหนี้บราซิลในปี 1996 แต่ครองสัดส่วนเพียง 4% ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ข้อมูลจาก IIF ระบุอีกด้วยว่า หนี้รัฐบาลที่อยู่ในรูปดอลลาร์มีขนาดเพียง 2% ของจีดีพีของประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียในปัจจุบันนี้ และมีขนาดเพียง 10.5% ของจีดีพีของประเทศตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคลาตินอเมริกายกเว้นอาร์เจนิตนา

  • อย่างไรก็ดี นายเกร์เรราระบุว่า ถ้าหากดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อไป การพุ่งขึ้นของดอลลาร์ก็อาจจะสร้างความเสียหายได้ และอาจจะส่งผลให้เกิดวิกฤติหนี้ในประเทศตลาดเกิดใหม่ เพราะถึงแม้ว่าหลายประเทศกู้เงินในรูปสกุลเงินท้องถิ่น ต่างชาติก็ยังคงถือครองตราสารหนี้จำนวนมาก โดยรายงานของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ที่ศึกษาประเทศตลาดเกิดใหม่ 25 ประเทศระบุว่า ชาวต่างชาติถือครองพันธบัตรรัฐบาลสกุลเงินในประเทศในสัดส่วนที่สูงกว่า 12% ของพันธบัตรกลุ่มนี้ และครองสัดส่วนสูงกว่า 25% ถ้าหากรวมพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศด้วย และนักลงทุนต่างชาติก็อาจจะเทขายพันธบัตรประเทศตลาดเกิดใหม่ออกมาได้ทุกเมื่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงเริ่มต้นวิกฤติโรคระบาดในเดือนมี.ค. 2020 ทั้งนี้ ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น ผู้จัดการกองทุนได้เทขายพันธบัตรของประเทศตลาดเกิดใหม่เพื่อเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ในขณะที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น โดยนักลงทุนชาวสหรัฐได้ปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของประเทศตลาดเกิดใหม่ลงราว 10% และปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นของประเทศกลุ่มนี้ลงเกือบ 6% ในช่วงนั้น ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลบราซิลประเภทอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นจาก 6.6% สู่ 9.8% ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนในช่วงนั้น--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้