ReutersReuters

JAPAN:กองทุนเฮดจ์ฟันด์แบ่งปันไอเดียการลงทุนขณะเยนอ่อนค่า

ลอนดอน--21 พ.ค.--รอยเตอร์

  • ดอลลาร์สหรัฐ/เยนพุ่งขึ้นมาแล้ว 10.7% จากช่วงต้นปีนี้ และอยู่ที่ระดับ 156.21 เยนในวันนี้ หลังจากเพิ่งพุ่งขึ้นแตะ 160.245 เยนในวันที่ 29 เม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1990 หรือจุดสูงสุดรอบ 34 ปี และนักลงทุนได้ตั้งข้อสงสัยกันว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) อาจเข้ามาแทรกแซงตลาดแล้ว 2 ครั้งในวันที่ 29 เม.ย.และในวันที่ 1 พ.ค. เพื่อช่วยหนุนค่าเงินเยน อย่างไรก็ดี ดอลลาร์/เยนยังคงมีแนวโน้มว่าจะปิดตลาดปีนี้ในแดนบวกเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน และการพุ่งขึ้นของดอลลาร์/เยนในช่วงนี้ก็ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลายเป็นเศรษฐกิจแบบ 2 ความเร็ว ในขณะที่ภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยวได้รับแรงหนุนจากการดิ่งลงอย่างรุนแรงของเยน แต่ภาคครัวเรือนกับภาคธุรกิจขนาดเล็กได้รับแรงกดดันจากการทะยานขึ้นของราคานำเข้า ทั้งนี้ ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ 4 แห่งได้แบ่งปันแนวคิดเกี่ยวกับการลงทุนในช่วงที่เยนอ่อนค่า ดังต่อไปนี้

  • กองทุนแห่งแรกคือกองทุนฟลอริน คอร์ท แคปิตัลที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารขนาด 2 พันล้านดอลลาร์ โดยนายดั๊ก กรีนิก หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของฟลอริน คอร์ทกล่าวว่า นักลงทุนควรจะขายสกุลเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย และเขากล่าวเสริมว่า "นักลงทุนควรจะพิจารณาเรื่องการขายสกุลเงินเอเชีย อย่างเช่นวอนของเกาหลีใต้หรือบาทของไทย เพราะว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของประเทศกลุ่มนี้อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยของประเทศตลาดเกิดใหม่ในทวีปอื่น ๆ และนักลงทุนก็ไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากการแทรกแซงตลาดของธนาคารกลางญี่ปุ่นด้วย" นอกจากนี้ เขายังกล่าวเสริมว่า หนี้สาธารณะของญี่ปุ่นมีขนาด 263% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แต่บีโอเจถือครองพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) เกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ทั้งนี้ บาทดิ่งลงมาแล้ว 5.83% จากช่วงต้นปีนี้ ส่วนวอนรูดลงมาแล้ว 5.68% จากช่วงต้นปีนี้

  • กองทุนแห่งที่ 2 คือกองทุนเอคิวอาร์ แคปิตัล แมเนจเมนท์ที่มีขนาด 1.08 แสนล้านดอลลาร์ โดยนายโจนาธาน เฟเดอร์ ผู้บริหารในบริษัทนี้ระบุว่า เขาชื่นชอบหุ้นญี่ปุ่นที่ได้รับประโยชน์จากการอ่อนค่าของเยน และเขากล่าวเสริมว่า การที่บีโอเจเข้ามาแทรกแซงตลาดได้สร้างความยุ่งยากให้กับนักลงทุนที่คาดการณ์ในทางลบต่อค่าเงินเยน แต่เยนก็ยังคงได้รับแรงกดดันจากปัจจัยสำคัญอันเดิมต่อไป ซึ่งได้แก่การที่นโยบายการเงินของญี่ปุ่นอยู่ในภาวะผ่อนคลาย แต่อัตราดอกเบี้ยในประเทศอื่น ๆ ทรงตัวอยู่ที่จุดสูงสุดรอบหลายปี ทั้งนี้ นายเฟเดอร์ตั้งข้อสังเกตว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังคงได้รับแรงหนุนจากบรรษัทภิบาลที่ดีขึ้น และจากภาคธนาคารของญี่ปุ่นที่ได้รับแรงหนุนจากการที่บีโอเจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปีในเดือนมี.ค.ปีนี้ ทางด้านดัชนีนิกเกอิของตลาดหุ้นญี่ปุ่นพุ่งขึ้นมาแล้ว 16% จากช่วงต้นปีนี้ และอยู่ที่ระดับราว 38,946 ในวันนี้ หลังจากทะยานขึ้นแตะสถิติสูงสุดใหม่ที่ 41,087.75 ในวันที่ 22 มี.ค.ปีนี้ นอกจากนี้ นายเฟเดอร์ยังกล่าวเสริมว่า "ถ้าหากความผันผวนของค่าเงินเยนลดระดับลง ตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็น่าจะพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งได้อีก"

  • กองทุนแห่งที่ 3 คือกองทุนเมาท์ ลูคัส แมเนจเมนท์ที่มีขนาด 1.5 พันล้านดอลลาร์ โดยนายเดวิด แอสเปล หุ้นส่วนของเมาท์ ลูคัสระบุว่า หนึ่งในวิธีการลงทุนในช่วงที่เยนอ่อนค่า คือการลงทุนผ่านทางสัญญาฟอร์เวิร์ดสกุลเงิน ซึ่งเป็นสัญญาที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และเขากล่าวเสริมว่า การเข้าซื้อสัญญาฟอร์เวิร์ดดอลลาร์/เยนระยะ 1 ปี ซึ่งมีอัตราแลกเปลี่ยนต่ำกว่าระดับปัจจุบัน หมายความว่านักลงทุนจะขาดทุนก็ต่อเมื่อดอลลาร์/เยนอ่อนค่าลงในช่วง 1 ปีข้างหน้า แต่นักลงทุนจะมีกำไร ถ้าหากดอลลาร์/เยนทรงตัวหรือแข็งค่าขึ้นในช่วง 1 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ เขากล่าวว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่กว้างมากระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐจะส่งผลให้นักลงทุนยังคงทำ carry trade ด้วยการขายเยนออกมาเพื่อซื้อสกุลเงินอื่น ๆ ต่อไป และเขากล่าวเสริมว่า "การแทรกแซงตลาดจะมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงมากในระยะกลาง ถ้าหากการแทรกแซงดังกล่าวสร้างความประหลาดใจให้แก่นักลงทุนได้จริง และได้รับแรงหนุนจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจด้วย"

  • กองทุนแห่งที่ 4 คือไพน์บริดจ์ อินเวสท์เมนท์ที่มีขนาด 1.682 แสนล้านดอลลาร์ โดยไลลา คอลล์มอร์เกน กรรมการผู้จัดการของไพน์บริดจ์ระบุว่า เธอจะเลือกลงทุนในตราสารที่มีหนี้เป็นหลักประกัน (CLO) ของสหรัฐที่มีการตั้งเวลาใหม่ในปี 2024 โดยจะมองหา CLO เกรดน่าลงทุนที่มีคุณภาพสูง, มีการขยายเวลาลงทุนใหม่ออกไปอีก 3 ปี, เป็นหนี้ที่ได้รับการรีไฟแนนซ์ และมีการคุ้มครองเจ้าหนี้จากการที่ลูกหนี้ชำระหนี้เต็มจำนวนในปีแรก ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) ได้พุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบสิบปีในช่วงนี้ และปัจจัยนี้อาจจะส่งผลให้นักลงทุนญี่ปุ่นโยกย้ายเงินลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในญี่ปุ่น หลังจากที่นักลงทุนญี่ปุ่นหลายรายเคยเข้าไปลงทุนใน CLO เกรดน่าลงทุนของสหรัฐที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่า 5% นับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้