ReutersReuters

ตลาดซื้อขายดอลลาร์/เยน:ดอลล์ขยับขึ้นขณะอีเธอร์พุ่งสูง

สิงคโปร์--21 พ.ค.--รอยเตอร์

  • ดอลลาร์ขยับขึ้นในการซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ที่ตลาดเอเชีย ในขณะที่เยนขยับลง แต่สกุลเงินส่วนใหญ่เคลื่อนตัวในกรอบแคบ เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงคาดการณ์ตามเดิมว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีนี้ โดยจะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. ทั้งนี้ เยนเคลื่อนตัวในกรอบแคบในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า ทางการญี่ปุ่นอาจจะเข้ามาแทรกแซงตลาดอีกครั้ง และความกังวลดังกล่าวก็สกัดกั้นเทรดเดอร์จากการหนุนดอลลาร์/เยนให้กลับขึ้นไปแตะจุดสูงสุดรอบ 34 ปีที่ 160.245 เยนที่เคยทำไว้ในวันที่ 29 เม.ย. อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงต้องการใช้เยนเป็นสกุลเงินในการระดมทุน เนื่องจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐยังคงอยู่ในระดับที่กว้างมาก

  • ดอลลาร์/เยนแข็งค่าขึ้น 0.14% สู่ 156.46 เยนในช่วงเช้าวันนี้ ส่วนยูโร/ดอลลาร์ขยับลง 0.05% สู่ 1.0850 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ ทางด้านดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินขยับขึ้น 0.09% สู่ 104.69 ในช่วงเช้าวันนี้ ทั้งนี้ ปอนด์ขยับลง 0.06% สู่ 1.2697 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 2 เดือนที่ 1.27255 ดอลลาร์สหรัฐในวันจันทร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียดิ่งลง 0.28% สู่ 0.6648 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ ทางด้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลง 0.26% สู่ 0.6089 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้

  • สกุลเงินคริปโตพุ่งขึ้น โดยเฉพาะอีเธอร์ เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่า คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) จะอนุมัติให้มีการจัดตั้งกองทุนสปอตอีเธอร์ ETF ในเร็ว ๆ นี้ หลังจาก SEC อนุมัติให้มีการจัดตั้งกองทุนบิทคอยน์ ETF ไปแล้วในช่วงต้นปีนี้ ทั้งนี้ อีเธอร์พุ่งขึ้นกว่า 5% สู่จุดสูงสุดในรอบกว่า 1 เดือนที่ 3,720.80 ดอลลาร์ในระหว่างช่วงการซื้อขายวันนี้ หลังจากทะยานขึ้นเกือบ 14% เมื่อวานนี้ ซึ่งถือเป็นการพุ่งขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2022 ส่วนบิทคอยน์ทะยานขึ้น 2.14% สู่ 71,015 ดอลลาร์ในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 71,957 ดอลลาร์ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. หรือจุดสูงสุดในรอบกว่า 1 เดือน

  • นายโทนี ซีคามอร์ นักวิเคราะห์ตลาดของบริษัท IG กล่าวว่า "ผมคิดว่าการพุ่งขึ้นของสกุลเงินคริปโตเกิดจากการเก็งกำไร และเกิดจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐที่ออกมาในสัปดาห์ที่แล้ว เพราะตัวเลขดังกล่าวช่วยกระตุ้นความต้องการซื้อสินทรัพย์เสี่ยง และส่งผลให้ตลาดมุ่งความสนใจไปยังแนวโน้มในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย" และเขากล่าวเสริมว่า "หลังจาก SEC อนุมัติการจัดตั้งกองทุนบิทคอยน์ ETF ไปแล้วในเดือนม.ค. และการลดผลตอบแทนจากการขุดบิทคอยน์ลงครึ่งหนึ่ง (halving) ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ตลาดสกุลเงินคริปโตก็ขาดแรงกระตุ้นสำคัญ และผมก็คิดว่าตลาดจะมุ่งความสนใจกลับไปยังเศรษฐกิจมหภาคอีกครั้ง และปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาคก็อยู่ในภาวะที่ดีมากนับตั้งแต่วันพุธที่ 15 พ.ค.เป็นต้นมา" ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแรงงาน (BLS) ในกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันพุธที่แล้วว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานแบบเทียบรายปีของสหรัฐปรับขึ้น 3.6% ในเดือนเม.ย. ซึ่งถือเป็นอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2021 หรือต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี โดยนักลงทุนมองว่า การที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอตัวลงจาก +3.8% ในเดือนมี.ค. ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางสหรัฐสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย.หรือก่อนหน้านั้น

  • เนื่องจากสหรัฐไม่มีกำหนดที่จะรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในสัปดาห์นี้ นักลงทุนจึงมุ่งความสนใจไปยังถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดในช่วงนี้ เพื่อใช้ในการประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด ทางด้านแคโรล คอง นักยุทธศาสตร์การลงทุนสกุลเงินของธนาคารคอมมอนเวลธ์ แบงก์ ออฟ ออสเตรเลีย (CBA) กล่าวว่า "ดิฉันคิดว่าเจ้าหน้าที่เฟดหลายคนจะแสดงความเห็นแบบเดียวกัน และจะส่งสัญญาณหลักว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด (FOMC) จะยังคงใช้ความอดทนต่อไปในส่วนของการปรับลดอัตราดอกเบี้ย" ทั้งนี้ นายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตากล่าวในการให้สัมภาษณ์ต่อสถานีบลูมเบิร์ก เทเลวิชันในวันจันทร์ว่า จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนที่เฟดจะมีความมั่นใจว่า อัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงสู่ระดับเป้าหมาย ทางด้านนายฟิลิป เจฟเฟอร์สัน รองประธานเฟดกล่าวในที่ประชุมของสมาคมผู้บริหารธนาคารเพื่อการจำนองในนิวยอร์คว่า ขณะนี้ยังคงเป็นเวลาที่เร็วเกินไปที่จะระบุได้ว่า การชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐในระยะนี้จะดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืนหรือไม่--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้