ReutersReuters
exclusive

FED:ปธ.เฟดนิวยอร์คชี้เฟดยังไม่พร้อมปรับลดดบ.แม้เขาพึงพอใจกับ CPI

นิวยอร์ค--17 พ.ค.--รอยเตอร์

  • นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์คกล่าวในการให้สัมภาษณ์ต่อรอยเตอร์ในวันพุธว่า เขาพึงพอใจกับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภคสหรัฐที่ชะลอตัวลง แต่ข่าวดีเกี่ยวกับการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อ ยังไม่ใช่ปัจจัยที่มากพอที่จะทำให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ในเร็ว ๆ นี้ และเขากล่าวเสริมว่า ถึงแม้สิ่งที่สำคัญคือการไม่ให้ความสำคัญมากเกินไปกับข่าวเศรษฐกิจล่าสุด ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ชะลอตัวลงในเดือนเม.ย. "ก็ถือเป็นการปรับตัวในทางที่ดี หลังจากตัวเลขนี้อยู่ในระดับที่น่าผิดหวังในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา" ทั้งนี้ เขากล่าวว่า "แนวโน้มโดยรวมอยู่ในระดับที่ดีมากพอสมควร" สำหรับการที่อัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่เขายังไม่มีความเชื่อมั่นมากพอว่า อัตราเงินเฟ้อจะปรับเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ได้อย่างยั่งยืนก่อนที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลง

  • นายวิลเลียมส์กล่าวว่า นโยบายการเงินอยู่ในภาวะ "เข้มงวด" และ "อยู่ในสถานะที่ดี" และเขากล่าวเสริมว่า "ผมมองไม่เห็นสัญญาณใด ๆ ที่บ่งชี้ว่า มีเหตุผลที่จะทำให้เฟดต้องปรับเปลี่ยนจุดยืนของนโยบายการเงินในตอนนี้ และผมก็ไม่คาดว่าเฟดจะทำแบบนั้น ผมไม่คาดว่าเฟดจะมีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นในระยะอันใกล้นี้ว่า อัตราเงินเฟ้อจะปรับเข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่ 2%" ทั้งนี้ เขากล่าวว่า "ผมมองไม่เห็นความจำเป็นใด ๆ ในการคุมเข้มนโยบายการเงินในตอนนี้"

  • นายวิลเลียมส์แสดงความเห็นดังกล่าว หลังจากสำนักงานสถิติแรงงาน (BLS) ในกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันพุธว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐแบบเทียบรายปีปรับขึ้น 3.4% ในเดือนเม.ย. หลังจากปรับขึ้น 3.5% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบรายปี ทางด้านดัชนี CPI พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่มีความผันผวนสูง ปรับขึ้น 3.6% ในเดือนเม.ย. ซึ่งถือเป็นอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2021 หรือต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี โดยนักลงทุนมองว่า การที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอตัวลงจาก +3.8% ในเดือนมี.ค. ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางสหรัฐสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย.หรือก่อนหน้านั้น

  • นายวิลเลียมส์กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และกำลังจะเข้าสู่ภาวะสมดุลมากยิ่งขึ้น ส่วนตลาดแรงงานยังคงอยู่ในภาวะ "ตึงตัว" ถึงแม้ตลาดแรงงานกำลังจะปรับเข้าสู่สถานะที่ดีขึ้น โดยผ่านทางการขจัดส่วนเกินออกไป แทนที่จะผ่านทางการทำให้อัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้น ทั้งนี้ เขากล่าวว่า อัตราการว่างงานของสหรัฐมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นจาก 3.9% ในปัจจุบัน สู่ 4% ในปีนี้ และเขาคาดว่า ดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งถือเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดนิยมใช้ มีแนวโน้มที่จะอยู่ใกล้ 2% ก่อนสิ้นปีนี้ และจะอยู่ที่ระดับราว 2.5% สำหรับช่วงตลอดทั้งปี 2024 นอกจากนี้ เขายังคาดว่า ดัชนี PCE จะอยู่ที่ราว 2% ในปีหน้า และจะอยู่ที่ 2% อย่างยั่งยืนในช่วงหลังจากนั้น

  • นายวิลเลียมส์กล่าวว่า ในการที่เฟดจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินนั้น เฟดจำเป็นจะต้องมีความเชื่อมั่นว่า อัตราเงินเฟ้อจะทรงตัวอยู่ที่ 2% ในอนาคต แต่อัตราเงินเฟ้อไม่จำเป็นจะต้องแตะ 2% ก่อนที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย และเขากล่าวเสริมว่า "อัตราเงินเฟ้อไม่จำเป็นจะต้องอยู่ที่ 2% เพราะผมคิดว่าถ้าหากเงื่อนไขเป็นแบบนั้น เฟดก็อาจจะต้องรอคอยเป็นเวลานานเกินไป" ทั้งนี้ หลังจากขนาดงบดุลของเฟดพุ่งขึ้นเป็น 2 เท่าเพราะมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้ในช่วงที่ผ่านมา นายวิลเลียมส์ก็กล่าวในวันพุธว่า งบดุลของเฟดยังคงส่งผลกระทบ "ปานกลาง" ต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ในขณะที่เฟดพยายามปรับลดขนาดการถือครองตราสารหนี้ลงในช่วงนี้--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้