ReutersReuters

JAPAN:คาดการอ่อนค่าของเยนจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อ BOJ ให้ขึ้นดบ.

โตเกียว--17 พ.ค.--รอยเตอร์

  • ปริมาณการบริโภคที่อ่อนแอในญี่ปุ่นอาจจะกระตุ้นให้นักการเมืองญี่ปุ่นพยายามกดดันธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะช่วยชะลอการดิ่งลงของค่าเงินเยน หลังจากการรูดลงของเยนในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าพุ่งสูงขึ้น ซึ่งสร้างความเสียหายต่อภาคครัวเรือนของญี่ปุ่น ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่า แรงกดดันจากนักการเมืองอาจจะส่งผลให้นายคาสุโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการบีโอเจส่งสัญญาณแบบสายเหยี่ยวต่อไป แต่เขาอาจจะระบุถึงข้อแม้หลายประการด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นการทำประกันความเสี่ยงต่อกรณีที่การบริโภคอาจจะใช้เวลานานเกินคาดในการฟื้นตัว

  • ดอลลาร์/เยนพุ่งขึ้นมาแล้วราว 10% จากช่วงต้นปีนี้ และได้ขึ้นไปแตะ 160.245 เยนในวันที่ 29 เม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1990 หรือจุดสูงสุดรอบ 34 ปี ถึงแม้บีโอเจตัดสินใจยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่เคยใช้มานาน 8 ปีในการประชุมเดือนมี.ค. โดยเยนได้รับแรงกดดันจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่กว้างมากระหว่างสหรัฐกับญี่ปุ่น ทั้งนี้ สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นรายงานในช่วงเช้าวานนี้ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวลง 2.0% ในไตรมาสแรกจากไตรมาสก่อนหน้านั้นเมื่อเทียบเป็นตัวเลขเต็มปี (annualised) ซึ่งถือเป็นการดิ่งลงอย่างรุนแรงเกินคาด หลังจากโพลล์รอยเตอร์คาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจหดตัวลงเพียง 1.5% เมื่อเทียบเป็นตัวเลขเต็มปี โดยปริมาณการบริโภคภาคครัวเรือน ซึ่งครองสัดส่วนสูงกว่าครึ่งหนึ่งของขนาดเศรษฐกิจญี่ปุ่น หดตัวลง 0.7% ในไตรมาสแรก ในขณะที่การอ่อนค่าของเยนส่งผลให้ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น และปัจจัยนี้ส่งผลลบต่อการบริโภคในญี่ปุ่น ทางด้านอุปสงค์จากต่างประเทศ หรือตัวเลขยอดส่งออกลบด้วยยอดนำเข้า ส่งผลลบ 0.3% ต่อจีดีพีญี่ปุ่นในไตรมาสแรก ในขณะที่การอ่อนค่าของเยนไม่ได้ส่งผลบวกต่อภาคโรงงานญี่ปุ่นมากเท่ากับในอดีต

  • นักวิเคราะห์กล่าวว่า การหดตัวทางเศรษฐกิจในญี่ปุ่นไม่มีแนวโน้มว่าจะส่งผลให้บีโอเจปรับเปลี่ยนแผนการในเดือนเม.ย.ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอ แต่ตัวเลขจีดีพีที่อ่อนแอนี้จะส่งผลให้ตัวเลขปริมาณการบริโภค, ค่าแรง และอัตราเงินเฟ้อของภาคบริการในช่วงต่อจากนี้ กลายเป็นตัวเลขที่มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะจะมีการใช้ตัวเลขเหล่านี้ในการประเมินกำหนดเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งถัดไป ทั้งนี้ นาโอมิ มุกุรุมะ หัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุนตราสารหนี้ของบล.มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ มอร์แกน สแตนเลย์กล่าวว่า "บีโอเจมีแนวโน้มที่จะยังคงคาดการณ์ตามเดิมว่า การปรับขึ้นค่าแรงจะช่วยหนุนปริมาณการบริโภค แต่บีโอเจอาจจะรอจนกว่าญี่ปุ่นจะรายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาสสองออกมาในเดือนส.ค. เพื่อตรวจสอบก่อนว่าสิ่งที่คาดไว้ได้กลายเป็นความจริงหรือไม่"

  • การอ่อนค่าของเยนส่งผลลบต่อปริมาณการบริโภค และสิ่งนี้ถือเป็นปัญหาสำหรับนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่น เพราะว่าอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นตามราคานำเข้าทำให้นักลงทุนตั้งข้อสงสัยว่า นายกรัฐมนตรีคิชิดะจะสามารถทำตามสัญญาของเขาได้หรือไม่ หลังจากเขาประกาศว่าเขาจะทำให้ค่าแรงที่แท้จริง หรือค่าแรงที่ปรับตามภาวะเงินเฟ้อ มีค่าเป็นบวกในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ถึงแม้บีโอเจตัดโอกาสในการใช้นโยบายการเงินในการควบคุมความเคลื่อนไหวของเยน เจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นและผู้บริหารบริษัทบางแห่งก็เรียกร้องให้บีโอเจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากระดับใกล้ 0% ในปัจจุบัน เพราะว่าพวกเขากังวลกับผลเสียที่เกิดจากการอ่อนค่าของเยน

  • นายมาซาคาสุ โทคุระ หัวหน้ากลุ่มเคดันเร็น ซึ่งเป็นกลุ่มล้อบบี้ทางธุรกิจของญี่ปุ่นได้กล่าวต่อคณะกรรมการเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่นในวันที่ 10 พ.ค.ว่า อัตราเงินเฟ้อจำเป็นจะต้องอยู่ในระดับปานกลางต่อไป เพื่อที่บริษัทญี่ปุ่นจะได้มีผลกำไรมากพอสำหรับนำมาใช้ในการปรับขึ้นค่าแรง และเขากล่าวเสริมว่า "เมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงที่การอ่อนค่าของเยนส่งผลให้ราคาพุ่งขึ้นมากเกินไป ผมก็ตั้งความหวังว่า รัฐบาลญี่ปุ่นและบีโอเจจะตั้งเป้าหมายในการทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งอยู่ที่ราว 2%" ทั้งนี้ มานะ นาคาโซระ สมาชิกคณะกรรมการเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวว่า บีโอเจควรที่จะช่วย "ลดแรงกดดันในทางลบที่มีต่อค่าเงินเยน" โดยใช้นโยบายการเงิน--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้