ReutersReuters

ASIA:ต่างชาติเทขายบอนด์เอเชียในเม.ย.ขณะดอลล์แข็งค่า

17 พ.ค.--รอยเตอร์

  • นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิตราสารหนี้เอเชียในเดือนเม.ย.เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ในขณะที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในเดือนเม.ย. และนักลงทุนไม่แน่ใจในแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้นักลงทุนลดความต้องการซื้อสินทรัพย์เสี่ยงในเดือนเม.ย. ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิตราสารหนี้ของไทย, อินโดนีเซีย, อินเดีย, มาเลเซีย และเกาหลีใต้เป็นมูลค่ารวมกัน 1.91 พันล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. หลังจากขายสุทธิ 4.69 พันล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค.

  • นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิตราสารหนี้ไทยเป็นมูลค่า 881 ล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีเงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากตราสารหนี้ไทยในเดือนเม.ย.เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินพุ่งขึ้นแตะ 106.51 ในวันที่ 16 เม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดรอบ 5 เดือนครึ่ง และดัชนีดอลลาร์ปิดตลาดเดือนเม.ย.ด้วยการทะยานขึ้น 1.76% จากเดือนมี.ค. ซึ่งถือเป็นการพุ่งขึ้นรายเดือนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 3 เดือน

  • นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิตราสารหนี้อินโดนีเซียเป็นมูลค่าราว 1.7 พันล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. ซึ่งถือเป็นยอดเงินลงทุนไหลออกเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ในขณะที่รูเปียห์ดิ่งลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 4 ปีที่ 16,285 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ในวันที่ 19 เม.ย. และการดิ่งลงของรูเปียห์ก็ส่งผลให้ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างพลิกความคาดหมายในวันที่ 24 เม.ย. โดย BI ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ 6.25% ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา

  • นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิตราสารหนี้อินเดียเป็นมูลค่า 1.31 พันล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. หลังจากที่เคยเข้าซื้อตราสารหนี้อินเดียมาเป็นเวลานานราว 1 ปี อย่างไรก็ดี นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อสุทธิตราสารหนี้เกาหลีใต้เป็นมูลค่า 1.86 พันล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. และเข้าซื้อสุทธิตราสารหนี้มาเลเซียเป็นมูลค่า 122 ล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย.

  • สถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงไปในเดือนนี้ เนื่องจากดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลงในเดือนนี้ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% ตามเดิมในการประชุมวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค., การจ้างงานนอกภาคเกษตรในสหรัฐเพิ่มขึ้น 175,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน และสำนักงานสถิติแรงงาน (BLS) ในกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันพุธว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐแบบเทียบรายปีปรับขึ้น 3.4% ในเดือนเม.ย. หลังจากปรับขึ้น 3.5% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบรายปี ในขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐานแบบเทียบรายปีปรับขึ้น 3.6% ในเดือนเม.ย. ซึ่งถือเป็นอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2021 หรือต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี โดยนักลงทุนมองว่า การที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอตัวลงจาก +3.8% ในเดือนมี.ค. ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย.หรือก่อนหน้านั้น ทั้งนี้ นายคูน โก๊ะ หัวหน้าฝ่ายวิจัยเอเชียของธนาคาร ANZ กล่าวว่า "ถึงแม้ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางปรับลดลง และเฟดยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในอนาคต ระดับความไม่แน่นอนก็อยู่สูงกว่าปกติในตอนนี้"--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้