ReutersReuters

ตลาดซื้อขายดอลลาร์/เยน:ดอลล์แข็งค่าเทียบเงินหลายสกุล

สิงคโปร์--17 พ.ค.--รอยเตอร์

  • ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินหลายสกุลในการซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ที่ตลาดเอเชีย แต่ดอลลาร์/ยูโรยังคงมีแนวโน้มว่าอาจจะปิดตลาดสัปดาห์นี้ด้วยการดิ่งลงรายสัปดาห์ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง เนื่องจากดอลลาร์ได้รับแรงกดดันในสัปดาห์นี้จากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงในสหรัฐ และจากสัญญาณบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอลง โดยปัจจัยเหล่านี้ช่วยกระตุ้นการคาดการณ์เรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทั้งนี้ นักลงทุนรอดูตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยุโรปที่จะได้รับการรายงานออกมาในช่วงต่อไปในวันนี้ ทางด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) รายงานในวันนี้ว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนพุ่งขึ้น 6.7% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายปี ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ +5.5% และเร่งความเร็วขึ้นจาก +4.5% ในเดือนมี.ค. อย่างไรก็ดี ยอดค้าปลีกของจีนปรับขึ้นเพียง 2.3% ในเดือนเม.ย. โดยชะลอตัวลงจาก +3.1% ในเดือนมี.ค. และอยู่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ +3.8%

  • ดอลลาร์/เยนพุ่งขึ้น 0.33% สู่ 155.89 เยนในช่วงเช้าวันนี้ ส่วนยูโรขยับลง 0.10% สู่ 1.0854 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ แต่ยูโรยังคงปรับขึ้น 0.79% จากสัปดาห์ที่แล้ว และสามารถทะยานขึ้นเหนือแนวต้านที่ 1.0855 ดอลลาร์ได้ในระหว่างสัปดาห์ โดยยูโรเพิ่งพุ่งขึ้นแตะ 1.0895 ดอลลาร์เมื่อวานนี้ด้วย ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. หรือจุดสูงสุดในรอบเกือบ 2 เดือน ทางด้านดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินแข็งค่าขึ้น 0.15% สู่ 104.66 ในช่วงเช้าวันนี้ ทั้งนี้ ปอนด์อ่อนค่าลง 0.11% สู่ 1.2652 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียดิ่งลง 0.30% สู่ 0.6657 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ ทางด้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลง 0.21% สู่ 0.6106 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้

  • ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันในสัปดาห์นี้จากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐที่ชะลอตัวลงในเดือนเม.ย. โดยตัวเลขดังกล่าวกระตุ้นให้นักลงทุนคาดการณ์กันว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. และในการประชุมวันที่ 17-18 ธ.ค. และการคาดการณ์นี้ก็ช่วยกระตุ้นตลาดหุ้นกับตลาดพันธบัตรในสัปดาห์นี้ด้วย นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจอื่น ๆ ในสหรัฐก็บ่งชี้ถึงการชะลอตัวลงทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน โดยสำนักงานสำมะโนประชากรในกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานในวันพุธว่า ยอดค้าปลีกทรงตัวในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากปรับขึ้น 0.6% ในเดือนมี.ค. ทางด้านเฟดรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ผลผลิตภาคโรงงานของสหรัฐปรับลดลง 0.3% ในเดือนเม.ย. หลังจากปรับขึ้น 0.2% ในเดือนมี.ค. ถึงแม้โพลล์รอยเตอร์คาดว่า ผลผลิตภาคโรงงานอาจปรับขึ้น 0.1% ในเดือนเม.ย.

  • ยูโรได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีเกินคาดในระยะนี้ ซึ่งรวมถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเยอรมนีที่ระดับ 0.2% ในไตรมาสแรกเมื่อเทียบรายไตรมาส ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ +0.1% ทางด้านสถาบัน ZEW รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของนักลงทุนเยอรมนีพุ่งขึ้นจาก 42.9 ในเดือนเม.ย. สู่ 47.1 ในเดือนพ.ค. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2022 หรือจุดสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ 46.0 อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงคาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 6 มิ.ย.

  • ดอลลาร์ออสเตรเลียและดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในสัปดาห์นี้ด้วยเช่นกัน โดยดอลลาร์ออสเตรเลียทะยานขึ้น 0.89% ในสัปดาห์นี้ และเพิ่งพุ่งขึ้นแตะ 0.6714 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อวานนี้ ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดรอบ 4 เดือน อย่างไรก็ดี ดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลงในเวลาต่อมา หลังจากออสเตรเลียรายงานในวันพฤหัสบดีว่า อัตราการว่างงานปรับขึ้นจาก 3.9% ในเดือนมี.ค. สู่ 4.1% ในเดือนเม.ย. และสิ่งนี้บ่งชี้ว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ไม่มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ทั้งนี้ นักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) จะประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.5% ตามเดิมในการประชุมสัปดาห์หน้า ในขณะที่ดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้น 1.48% จากสัปดาห์ที่แล้ว และมีแนวโน้มว่าอาจจะปิดตลาดสัปดาห์นี้ด้วยการพุ่งขึ้นรายสัปดาห์ครั้งใหญ่ที่สุดในปี 2024 โดยดอลลาร์นิวซีแลนด์เพิ่งพุ่งขึ้นแตะ 0.6140 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อวานนี้ ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. หรือจุดสูงสุดรอบ 2 เดือนด้วย--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้