ReutersReuters

MORNING BRIEF:สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ

กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--รอยเตอร์

  • ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในวันพฤหัสบดี หลังจากสำนักงานสถิติแรงงาน (BLS) ในกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ราคานำเข้าสหรัฐพุ่งขึ้น 0.9% ในเดือนเม.ย. ซึ่งถือเป็นการพุ่งขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2022 หลังจากราคานำเข้าปรับขึ้น 0.6% ในเดือนมี.ค. และตัวเลขเดือนเม.ย.อยู่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ +0.3% โดยตัวเลขราคานำเข้านี้ทำให้นักลงทุนกังวลว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงต้องดำเนินมาตรการควบคุมภาวะเงินเฟ้อต่อไป และเฟดอาจจะต้องเลื่อนเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไป โดยครั้งสุดท้ายที่ราคานำเข้าเคยปรับลดลงแบบเทียบรายเดือนเกิดขึ้นในเดือนธ.ค. 2023 ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันพฤหัสบดีอีกด้วยว่า ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐดิ่งลง 10,000 ราย สู่ 222,000 รายในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 พ.ค. แต่อยู่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ 220,000 ราย โดยยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานเพิ่งพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 8 เดือนในสัปดาห์ก่อนหน้านั้น และการดิ่งลงของตัวเลขในครั้งนี้ก็บ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานสหรัฐมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป Eikon source text

    ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 104.50 ในช่วงท้ายตลาดวันพฤหัสบดี โดยแข็งค่าขึ้นจาก 104.20 ในช่วงท้ายตลาดวันพุธ หลังจากดัชนีดอลลาร์เพิ่งดิ่งลง 0.75% ในวันพุธ

    ดอลลาร์/เยนอยู่ที่ 155.38 เยนในช่วงท้ายตลาดวันพฤหัสบดี โดยแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดวันพุธที่ 154.87 เยน หลังจากดอลลาร์/เยนเพิ่งดิ่งลง 1% ในวันพุธ และดอลลาร์ได้รูดลงแตะ 153.57 เยนในระหว่างช่วงการซื้อขายวันพฤหัสบดีด้วย อย่างไรก็ดี ดอลลาร์/เยนพุ่งขึ้นมาแล้วราว 9.5% จากช่วงต้นปีนี้

    ยูโร/ดอลลาร์อยู่ที่ 1.0865 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี โดยอ่อนค่าลงจาก 1.0882 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันพุธ หลังจากพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 2 เดือนที่ 1.0895 ดอลลาร์ในระหว่างช่วงการซื้อขายวันพฤหัสบดี

  • ตลาดหุ้นสหรัฐปิดปรับลงในวันพฤหัสบดี ในขณะที่นักลงทุนยังคงปรับการคาดการณ์ที่มีต่อแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และปรับตัวรับผลประกอบการของบริษัทสหรัฐ โดยนักลงทุนคาดว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีนี้ และคาดว่ามีโอกาส 70% ที่เฟดอาจจะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. ทางด้านนายโธมัส เฮย์ส ประธานกรรมการบริษัทเกรท ฮิลล์ แคปิตัลกล่าวว่า "ตลาดหุ้นเพิ่งพุ่งขึ้นครั้งใหญ่ในวันพุธ และนักลงทุนก็พิจารณาค่าพีอีเรโช และก็พบว่าค่าพีอีเรโชยังคงอยู่ที่ระดับ 21 หรือ 22 เท่าของคาดการณ์ผลกำไรล่วงหน้า ถึงแม้ผลกำไรของภาคเอกชนสหรัฐอาจจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปีนี้และปีหน้า นอกจากนี้ ตลาดหุ้นก็ได้ปรับตัวรับข่าวดีไปมากแล้วด้วย" ทั้งนี้ หุ้น 10 กลุ่มจาก 11 กลุ่มใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐปิดตลาดวันพฤหัสบดีในแดนลบ โดยมีเพียงแค่หุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นที่ปิดตลาดในแดนบวก ทางด้านหุ้นบริษัทวอลมาร์ทซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่พุ่งขึ้น 7% หลังจากวอลมาร์ทปรับขึ้นตัวเลขคาดการณ์ยอดขายและผลกำไรประจำปีงบดุลบัญชี 2025 เนื่องจากวอลมาร์ทคาดว่า การชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อจะช่วยหนุนอุปสงค์ในสินค้าจำเป็น อย่างไรก็ดี หุ้นบริษัทเดียร์ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการเกษตรดิ่งลง 4.8% หลังจากเดียร์ปรับลดคาดการณ์ผลกำไรประจำปีลงเป็นครั้งที่สอง Eikon source text

    ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดขยับลง 0.10% สู่ 39,869.38 ในวันพฤหัสบดี หลังจากดัชนีพุ่งขึ้นแตะสถิติสูงสุดใหม่เหนือ 40,000 ได้เป็นครั้งแรกในระหว่างช่วงการซื้อขายวันพฤหัสบดี

    ดัชนี S&P 500 ปิดปรับลง 0.21% สู่ 5,297.10

    ดัชนี Nasdaq ปิดปรับลง 0.26% สู่ 16,698.32

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX ปรับขึ้นในวันพฤหัสบดี หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐดิ่งลง 10,000 ราย สู่ 222,000 รายในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 พ.ค. แต่อยู่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ 220,000 ราย โดยยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานเพิ่งพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 8 เดือนในสัปดาห์ก่อนหน้านั้น และการดิ่งลงของตัวเลขในครั้งนี้ก็บ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานสหรัฐมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และปัจจัยดังกล่าวอาจจะช่วยหนุนอุปสงค์น้ำมันเบนซิน นอกจากนี้ ราคาน้ำมันก็ได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐและอุปสงค์น้ำมันด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ อุปสงค์น้ำมันเบนซินในสหรัฐยังคงอยู่ต่ำกว่า 9 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน ซึ่งต่ำกว่าระดับอุปสงค์ตามปกติในช่วงก่อนถึงฤดูร้อน ในขณะที่ฤดูร้อนในสหรัฐกำลังจะเริ่มต้นในช่วงสุดสัปดาห์วันเมโมเรียล เดย์ ซึ่งตรงกับวันจันทร์ที่ 27 พ.ค.ในปีนี้ Eikon source text

    ราคาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนมิ.ย.ปรับขึ้น 60 เซนต์ หรือ 0.8% มาปิดตลาดที่ 79.23 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

    ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ค.ที่ตลาดกรุงลอนดอนปรับขึ้น 52 เซนต์ หรือ 0.6% มาปิดตลาดที่ 83.27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในวันพฤหัสบดี หลังจากเบรนท์เพิ่งดิ่งลงแตะ 81.05 ดอลลาร์ในระหว่างช่วงการซื้อขายวันพุธ ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดของราคาสัญญาเดือนใกล้นับตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ.เป็นต้นมา

  • ราคาทองสปอตที่ตลาดสหรัฐร่วงลง 9.60 ดอลลาร์ สู่ 2,376.44 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงท้ายตลาดวันพฤหัสบดี หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 2,397.32 ดอลลาร์ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. หรือจุดสูงสุดในรอบเกือบ 1 เดือน โดยราคาทองได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐในวันพฤหัสบดี อย่างไรก็ดี ราคาทองได้รับแรงหนุนเข้ามาบ้างจากสัญญาณบ่งชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐชะลอตัวลง และปัจจัยดังกล่าวช่วยหนุนการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ ทั้งนี้ นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์คกล่าวว่า ข่าวดีเกี่ยวกับการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อ ยังไม่ใช่ปัจจัยที่มากพอที่จะทำให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ในเร็ว ๆ นี้ ทางด้านบริษัท BMI ที่อยู่ในเครือบริษัทฟิทช์ โซลูชันส์ระบุว่า "ราคาทองได้รับแรงหนุนในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาจากการอ่อนค่าของดอลลาร์, จากการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ และเราก็คาดว่า ราคาทองจะยังคงเคลื่อนตัวอยู่เหนือ 2,250 ดอลลาร์ได้ต่อไปในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า" Eikon source text

--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้