ReutersReuters

ตลาดเงินนิวยอร์ค:ตัวเลขราคานำเข้าสหรัฐหนุนดอลล์แข็งค่า

นิวยอร์ค--17 พ.ค.--รอยเตอร์

  • ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในวันพฤหัสบดี หลังจากสำนักงานสถิติแรงงาน (BLS) ในกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ราคานำเข้าสหรัฐพุ่งขึ้น 0.9% ในเดือนเม.ย. ซึ่งถือเป็นการพุ่งขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2022 หลังจากราคานำเข้าปรับขึ้น 0.6% ในเดือนมี.ค. และตัวเลขเดือนเม.ย.อยู่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ +0.3% โดยตัวเลขราคานำเข้านี้ทำให้นักลงทุนกังวลว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงต้องดำเนินมาตรการควบคุมภาวะเงินเฟ้อต่อไป และเฟดอาจจะต้องเลื่อนเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไป โดยครั้งสุดท้ายที่ราคานำเข้าเคยปรับลดลงแบบเทียบรายเดือนเกิดขึ้นในเดือนธ.ค. 2023 ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันพฤหัสบดีอีกด้วยว่า ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐดิ่งลง 10,000 ราย สู่ 222,000 รายในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 พ.ค. แต่อยู่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ 220,000 ราย โดยยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานเพิ่งพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 8 เดือนในสัปดาห์ก่อนหน้านั้น และการดิ่งลงของตัวเลขในครั้งนี้ก็บ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานสหรัฐมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป

  • ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 104.50 ในช่วงท้ายตลาดวันพฤหัสบดี โดยแข็งค่าขึ้นจาก 104.20 ในช่วงท้ายตลาดวันพุธ หลังจากดัชนีดอลลาร์เพิ่งดิ่งลง 0.75% ในวันพุธ

    ดอลลาร์/เยนอยู่ที่ 155.38 เยนในช่วงท้ายตลาดวันพฤหัสบดี โดยแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดวันพุธที่ 154.87 เยน หลังจากดอลลาร์/เยนเพิ่งดิ่งลง 1% ในวันพุธ และดอลลาร์ได้รูดลงแตะ 153.57 เยนในระหว่างช่วงการซื้อขายวันพฤหัสบดีด้วย อย่างไรก็ดี ดอลลาร์/เยนพุ่งขึ้นมาแล้วราว 9.5% จากช่วงต้นปีนี้

    ยูโร/ดอลลาร์อยู่ที่ 1.0865 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี โดยอ่อนค่าลงจาก 1.0882 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันพุธ หลังจากพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 2 เดือนที่ 1.0895 ดอลลาร์ในระหว่างช่วงการซื้อขายวันพฤหัสบดี

  • เจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นในเชิงระมัดระวังในวันพฤหัสบดี โดยนายโธมัส บาร์คิน ประธานเฟดสาขาริชมอนด์กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อยังไม่ได้อยู่ในระดับที่ควรจะอยู่ ส่วนลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์กล่าวว่า การตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับปัจจุบันจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงชะลอตัวลงสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% และเธอกล่าวเสริมว่า การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจะใช้เวลานานเกินกว่าที่เธอเคยคาดการณ์ไว้

  • ดอลลาร์/เยนดิ่งลงในช่วงแรกของวันพฤหัสบดี ก่อนจะพุ่งขึ้นในเวลาต่อมา เนื่องจากตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอของญี่ปุ่นกดดันเยนให้ร่วงลง ทั้งนี้ สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นรายงานในช่วงเช้าวันพฤหัสบดีว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวลง 2.0%ในไตรมาสแรกจากไตรมาสก่อนหน้านั้นเมื่อเทียบเป็นตัวเลขเต็มปี (annualised) ซึ่งถือเป็นการดิ่งลงอย่างรุนแรงเกินคาด หลังจากโพลล์รอยเตอร์คาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจหดตัวลงเพียง 1.5% เมื่อเทียบเป็นตัวเลขเต็มปี โดยปัจจัยนี้อาจจะเป็นอุปสรรคขัดขวางธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

  • ดอลลาร์เพิ่งร่วงลงในวันพุธ หลังจากสหรัฐเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อที่อ่อนแอเกินคาด ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแรงงาน (BLS) ในกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันพุธว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐปรับขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากปรับขึ้น 0.4% ในเดือนมี.ค. ส่วนดัชนี CPI ทั่วไปแบบเทียบรายปีปรับขึ้น 3.4% ในเดือนเม.ย. หลังจากปรับขึ้น 3.5% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบรายปี ทางด้านดัชนี CPI พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่มีความผันผวนสูง ปรับขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากปรับขึ้น 0.4% มานาน 3 เดือนติดต่อกัน ในขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐานแบบเทียบรายปีปรับขึ้น 3.6% ในเดือนเม .ย. ซึ่งถือเป็นอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2021 หรือต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี โดยนักลงทุนมองว่า การที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอตัวลงจาก +3.8% ในเดือนมี.ค. ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางสหรัฐสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย.หรือก่อนหน้านั้น--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้