ReutersReuters

ตลาดเงินนิวยอร์ค:ดอลล์ดิ่งลงหลังสหรัฐเผย CPI,ยอดค้าปลีก

นิวยอร์ค--16 พ.ค.--รอยเตอร์

  • ดอลลาร์สหรัฐดิ่งลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญในวันพุธ หลังจากสำนักงานสถิติแรงงาน (BLS) ในกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันพุธว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐปรับขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากปรับขึ้น 0.4% ในเดือนมี.ค. ส่วนดัชนี CPI ทั่วไปแบบเทียบรายปีปรับขึ้น 3.4% ในเดือนเม.ย. หลังจากปรับขึ้น 3.5% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบรายปี ทางด้านดัชนี CPI พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่มีความผันผวนสูง ปรับขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากปรับขึ้น 0.4% มานาน 3 เดือนติดต่อกัน ในขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐานแบบเทียบรายปีปรับขึ้น 3.6% ในเดือนเม.ย. ซึ่งถือเป็นอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2021 หรือต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี และชะลอตัวลงจาก +3.8% ในเดือนมี.ค. ทั้งนี้ รายงานนี้แสดงให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐกลับมามีแนวโน้มชะลอตัวลงอีกครั้งในไตรมาสสอง และปัจจัยนี้ช่วยกระตุ้นความคาดหวังที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. โดยในตอนนี้เทรดเดอร์คาดว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงรวมกันราว 0.51% ในปี 2024

  • ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 104.20 ในช่วงท้ายตลาดวันพุธ โดยดิ่งลงจาก 105.05 ในช่วงท้ายตลาดวันอังคาร โดยระดับ 104.20 นี้ถือเป็นจุดต่ำสุดรอบ 1 เดือน

    ดอลลาร์/เยนอยู่ที่ 154.87 เยนในช่วงท้ายตลาดวันพุธ โดยรูดลง 0.99% จากระดับปิดตลาดวันอังคารที่ 156.42 เยน

    ยูโร/ดอลลาร์อยู่ที่ 1.0882 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันพุธ โดยแข็งค่าขึ้นจาก 1.0818 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันอังคาร

  • ดอลลาร์ได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากรายงานยอดค้าปลีกของสหรัฐด้วย โดยสำนักงานสำมะโนประชากรในกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานในวันพุธว่า ยอดค้าปลีกทรงตัวในเดือนเม.ย. หลังจากปรับขึ้น 0.6% ในเดือนมี.ค. ในขณะที่การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันเบนซินส่งผลให้ผู้บริโภคลดการซื้อสินค้าอื่น ๆ และสิ่งนี้บ่งชี้ว่า ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคกำลังชะลอตัวลง ทางด้านยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมรถยนต์, น้ำมันเบนซิน, วัสดุก่อสร้าง และบริการอาหารร่วงลง 0.3% ในเดือนเม.ย. หลังจากพุ่งขึ้น 1.0% ในเดือนมี.ค.

  • นายรูสเวลท์ โบว์แมน นักยุทธศาสตร์การลงทุนของบริษัทเบิร์นสไตน์ ไพรเวท เวลธ์ แมเนจเมนท์กล่าวว่า ยอดค้าปลีกคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อตลาดปริวรรตเงินตราในวันพุธ ในขณะที่สกุลเงินที่มีความผันผวนสูง อย่างเช่นดอลลาร์ออสเตรเลีย พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี นายโบว์แมนกล่าวเสริมว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาในวันพุธไม่ได้ทำให้เฟดปรับเปลี่ยนความเห็นที่มีต่อแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะใกล้ แต่ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและเทขายดอลลาร์สหรัฐออกมา ทั้งนี้ ดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้น 0.97% สู่ 0.6687 ดอลลาร์สหรัฐในวันพุธ ในขณะที่เปโซเม็กซิโกทะยานขึ้น 0.81% สู่ 16.6971 เปโซต่อดอลลาร์สหรัฐในวันพุธ ทางด้านดอลลาร์สหรัฐ/โครนนอร์เวย์ดิ่งลง 1.3% สู่ 10.6729 โครนนอร์เวย์ในช่วงท้ายวันพุธ หลังจากรูดลงแตะ 10.6671 โครนนอร์เวย์ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. ในขณะที่นักวิเคราะห์กล่าวว่า ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐกับนอร์เวย์อาจแตะจุดสูงสุดไปแล้ว

  • นายมาร์วิน หลอ นักยุทธศาสตร์การลงทุนของบริษัทสเตท สตรีทกล่าวว่า การดิ่งลงของดอลลาร์/เยนในวันพุธน่าจะส่งผลให้ทางการญี่ปุ่นไม่เข้ามาแทรกแซงตลาดในช่วงนี้ และเขากล่าวเสริมว่า "ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะพึงพอใจที่ได้เห็นดอลลาร์ที่ระดับ 155 เยนอีกครั้ง" โดยก่อนหน้านี้ดอลลาร์เคยพุ่งขึ้นแตะ 160.245 เยนในวันที่ 29 เม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1990 หรือจุดสูงสุดรอบ 34 ปี และนักวิเคราะห์ตั้งข้อสงสัยว่า ทางการญี่ปุ่นได้เข้ามาแทรกแซงตลาด 2 รอบในสัปดาห์นั้นจนส่งผลให้ดอลลาร์ดิ่งลงแตะ 151.86 เยนในวันที่ 3 พ.ค.--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้