ReutersReuters

วิเคราะห์ 5 ปัจจัยที่อาจส่งผลให้อัตราดบ.อยู่สูงต่อไปเป็นเวลานาน

14 พ.ค.--รอยเตอร์

  • นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาหมายความว่า ยุคสมัยที่อัตราดอกเบี้ยเคยอยู่ในระดับต่ำมากจะไม่หวนกลับคืนมาอีกในอนาคต และนักลงทุนก็กำลังตั้งข้อสงสัยกันในตอนนี้ว่า อัตราดอกเบี้ย R-star กำลังปรับสูงขึ้นหรือไม่ โดยอัตราดอกเบี้ย R-star คืออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (อัตราดอกเบี้ยที่หักอัตราเงินเฟ้อออก) ที่สร้างเสถียรภาพให้แก่เศรษฐกิจในระยะยาว หรืออยู่ในระดับที่ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตในอัตราศักยภาพ และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับเป้าหมายอย่างมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ เทรดเดอร์คาดว่า อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะอยู่ที่ระดับราว 4% ในช่วงสิ้นไตรมาสนี้ ซึ่งอยู่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในระยะยาวของผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่คาดไว้ที่ระดับ 2.6% เป็นอย่างมาก และเทรดเดอร์ก็คาดว่า อัตราดอกเบี้ยของยูโรโซนซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิก 20 ประเทศจะอยู่ที่ระดับราว 2.5% ในช่วงสิ้นไตรมาสนี้ ทางด้านนายชามิค ดาร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทแบงก์ ออฟ นิวยอร์ค เมลลอน อินเวสท์เมนท์ แมเนจเมนท์แสดงความกังวลว่า ตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ได้ปรับตัวรับความจริงที่ว่า อัตราดอกเบี้ย R-star ได้ปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

  • นักวิเคราะห์ระบุถึงปัจจัย 5 ประการที่อาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยในระยะยาว โดยปัจจัยแรกคือการที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จะต้องกู้ยืมเงินเป็นจำนวนมากเพื่อนำมาใช้ในการลงทุนด้านสภาพภูมิอากาศและการทหาร โดยนักเศรษฐศาสตร์บางรายคาดว่าความจำเป็นด้านการใช้จ่ายเงินที่เพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่า ยอดขาดดุลงบประมาณของประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ 5.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2023 โดยพุ่งขึ้นเป็นอย่างมากจากระดับ 3% ของจีดีพีในปี 2019 และยอดขาดดุลนี้อาจจะอยู่ที่ 3.6% ของจีดีพีในปี 2029 ทางด้านนายเอ็ด ฮัทชิงส์ หัวหน้าฝ่ายอัตราดอกเบี้ยของบริษัทเอวิวา อินเวสเตอร์สกล่าวว่า ยอดขาดดุลงบประมาณที่พุ่งสูงขึ้นจะส่งผลให้นักลงทุนเรียกร้องอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจากการถือครองพันธบัตรรัฐบาล

  • ปัจจัยที่ 2 คือประชากรสูงวัย ในขณะที่สัดส่วนประชากรถือเป็นปัจจัยที่สร้างความไม่แน่นอนเป็นอย่างมากต่ออัตราดอกเบี้ยระยะยาว ทางด้านนักลงทุนมองว่า อัตราดอกเบี้ยได้รับแรงกดดันในช่วงที่ผ่านมาจากการที่ประชากรในประเทศร่ำรวยสะสมเงินออมไว้เป็นจำนวนมาก และปัจจัยนี้อาจจะดำเนินต่อไป โดยสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประเมินว่า ประชากรที่มีอายุสูงกว่า 65 ปีครองสัดส่วน 10% ของประชากรโลกในปี 2022 และสัดส่วนดังกล่าวจะปรับขึ้นสู่ 16% ของประชากรโลกในปี 2050 อย่างไรก็ดี สัดส่วนของผู้พึ่งพิงต่อคนงานพุ่งสูงขึ้นในช่วงนี้ และปัจจัยนี้อาจจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยทะยานสูงขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ บริษัทโนมูระก็ระบุว่า การกู้ยืมเงินเพื่อนำมาชดเชยเงินที่ขาดไปในเงินบำนาญก็จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นด้วย

  • ปัจจัยที่ 3 คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจจะส่งผลบวกหรือผลลบต่ออัตราดอกเบี้ยก็ได้ โดยอิซาเบล ชนาเบล ผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ระบุว่า การเปลี่ยนผ่านด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น โดยปริมาณเงินที่ต้องใช้ในด้านนี้มีขนาดทัดเทียมกับเงินที่จำเป็นต้องใช้ในการบูรณะฟื้นฟูยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็อาจจะส่งผลกระทบให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี รายงานของอีซีบีระบุว่า ปัจจัยดังกล่าวอาจจะส่งผลลบราว 17% ต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลกภายในปี 2050 และความเสียหายนี้อาจจะส่งผลลบต่อประสิทธิภาพการผลิต และอาจจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย R-star ปรับลดลง ทางด้านไอเอ็มเอฟระบุว่า ราคาพลังงานสะอาดที่สูงขึ้นอาจจะส่งผลให้ความต้องการลงทุนลดลง และอาจจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับลดลงด้วย

  • ปัจจัยที่ 4 คือกระแสความนิยมในปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยธนาคารโกลด์แมน แซคส์คาดว่า ประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้นเพราะ AI อาจจะส่งผลบวกราว 0.4% ต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐภายในปี 2034 และอาจจะส่งผลบวกราว 0.3% ต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วประเทศอื่น ๆ ภายในปี 2034 และสิ่งนี้จะส่งผลบวกต่ออัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะถ้าหากมีการรีบเร่งนำ AI มาใช้ตั้งแต่ในช่วงแรก ๆ

  • ปัจจัยที่ 5 คือความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทาน หลังจากความเสี่ยงดังกล่าวพุ่งสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเพราะวิกฤติโรคระบาด, สงครามในยูเครน, สงครามในกาซา และความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ โดยนายโซเรน รัดเดอ หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจยุโรปของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ "พอยท์72" กล่าวว่า "ถ้าหากธนาคารกลางดำเนินมาตรการรับมือกับปัญหานี้ สิ่งนี้ก็อาจจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยปรับสูงขึ้น" ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอาจจะได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจาก "friendshoring" หรือการโยกย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศที่ไม่เป็นมิตร อย่างเช่น จีน และย้ายฐานการผลิตเข้าสู่ประเทศที่เป็นพันธมิตรของชาติตะวันตกแทน โดยการทำเช่นนี้เท่ากับว่าฐานการผลิตจะโยกย้ายเข้าสู่ประเทศที่มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามไปด้วย--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้