ReutersReuters

ตลาดซื้อขายดอลลาร์/เยน:ดอลล์/เยนปรับขึ้นแตะจุดสูงสุด 2 สัปดาห์

โตเกียว--14 พ.ค.--รอยเตอร์

  • ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินขยับขึ้นเล็กน้อยในการซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ที่ตลาดเอเชีย ในขณะที่นักลงทุนรอดูตัวเลขเงินเฟ้อที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานออกมาในสัปดาห์นี้ เพื่อใช้ในการประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทางด้านดอลลาร์/เยนปรับขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 2 สัปดาห์ในระหว่างช่วงการซื้อขายวันนี้ และปัจจัยนี้ทำให้นักลงทุนกังวลว่า ทางการญี่ปุ่นอาจจะเข้ามาแทรกแซงตลาดอีกครั้ง ทั้งนี้ นักลงทุนตั้งข้อสงสัยว่า กระทรวงการคลังญี่ปุ่นอาจเข้ามาแทรกแซงในตลาดปริวรรตเงินตราในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 พ.ค. หลังจากดอลลาร์/เยนพุ่งขึ้นแตะ 160.245 เยนในวันที่ 29 เม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1990 หรือจุดสูงสุดรอบ 34 ปี อย่างไรก็ดี เยนยังคงได้รับแรงกดดันจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่กว้างมากระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศเศรษฐกิจสำคัญแห่งอื่น ๆ ทางด้านนายชุนอิชิ ซูซูกิ รมว.คลังญี่ปุ่นกล่าวในวันนี้ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ในด้านตลาดปริวรรตเงินตรา เพื่อรับประกันว่าจะไม่เกิดความขัดแย้งกันระหว่างเป้าหมายร่วมกันของทั้งสอง โดยนายซูซูกิกล่าวเสริมว่า "เราจะดำเนินมาตรการทั้งหมดที่ทำได้เพื่อจับตาดูเยนอย่างใกล้ชิด" และเขาระบุอีกด้วยว่า สิ่งที่สำคัญก็คืออัตราแลกเปลี่ยนที่เคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพในแบบที่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน แทนที่จะเป็นระดับอัตราแลกเปลี่ยน

  • ดอลลาร์/เยนแข็งค่าขึ้น 0.12% สู่ 156.39 เยนในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 156.45 เยนในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ส่วนยูโร/ดอลลาร์ทรงตัวที่ 1.0788 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ โดยยูโรพุ่งขึ้นมาแล้ว 1.15% จากช่วงต้นเดือนพ.ค. ทางด้านดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินขยับขึ้น 0.06% สู่ 105.25 ในช่วงเช้าวันนี้ ทั้งนี้ ปอนด์ขยับลง 0.02% สู่ 1.2555 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ แต่ปอนด์แข็งค่าขึ้นมาแล้ว 0.5% จากช่วงต้นเดือนนี้ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียขยับลง 0.08% สู่ 0.6602 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ ทางด้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ขยับลง 0.02% สู่ 0.6013 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้

  • ตลาดปริวรรตเงินตราอยู่ในภาวะสงบเงียบในช่วงต้นสัปดาห์นี้ ในขณะที่นักลงทุนพยายามประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขตลาดแรงงานที่อ่อนแอเกินคาดในช่วงที่ผ่านมา โดยนักลงทุนคาดการณ์ในตอนนี้ว่า มีโอกาส 60% ที่เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. และคาดว่าเฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงรวมกันราว 0.42% ในปีนี้ ทางด้านโพลล์รอยเตอร์คาดว่า เฟดอาจจะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย.เช่นกัน และคาดว่าเฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีนี้ ทั้งนี้ นักลงทุนรอดูดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานออกมาในวันพุธนี้ โดยโพลล์รอยเตอร์คาดว่า ดัชนี CPI พื้นฐานของสหรัฐอาจปรับขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายเดือน โดยชะลอตัวลงจาก +0.4% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบรายเดือน และนักลงทุนคาดว่า ดัชนี CPI พื้นฐานอาจปรับขึ้น 3.6% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายปี

  • นักลงทุนรอดูดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานออกมาในวันอังคารด้วย โดยนายโทนี ซีคามอร์ นักวิเคราะห์ตลาดของบริษัท IG กล่าวว่า "นักลงทุนจะมุ่งความสนใจไปยังรายการสำคัญในดัชนี PPI ที่ถูกใช้ในการคำนวณดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐานของสหรัฐ โดยรายการดังกล่าวรวมถึงบริการทางการแพทย์, ค่าบริหารพอร์ตลงทุน และค่าตั๋วเครื่องบินภายในประเทศ" ทั้งนี้ เฟดมักใช้ดัชนี PCE เป็นมาตรวัดภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐ

  • เยนได้รับแรงหนุนเป็นเวลาสั้น ๆ ในวันจันทร์ หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ส่งสัญญาณแบบสายเหยี่ยวต่อตลาดการเงินในวันจันทร์ เนื่องจากบีโอเจปรับลดปริมาณการเสนอซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) ที่มีอายุเหลือ 5-10 ปีก่อนครบกำหนดไถ่ถอน ลงสู่ 4.25 แสนล้านเยน (2.73 พันล้านดอลลาร์) จากเดิมที่เคยเสนอซื้อ 4.75 แสนล้านเยนในปฏิบัติการครั้งก่อนในวันที่ 24 เม.ย. ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า ภาระผูกพันของญี่ปุ่นที่มีต่อการปล่อยให้เยนเคลื่อนไหวได้อย่างยืดหยุ่น จะช่วยให้บีโอเจมุ่งความสนใจไปยังการสร้างเสถียรภาพของราคาได้ และไอเอ็มเอฟไม่เห็นด้วยกับเสียงเรียกร้องของนักวิเคราะห์บางรายที่ต้องการให้บีโอเจใช้นโยบายการเงินในการชะลอการดิ่งลงของเยน--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้