ReutersReuters

USA:ม.มิชิแกนเผยการคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้นในพ.ค.

วอชิงตัน--13 พ.ค.--รอยเตอร์

  • มหาวิทยาลัยมิชิแกนได้รายงานในวันศุกร์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐดิ่งลงจาก 77.2 ในเดือนเม.ย. สู่ 67.4 ในเดือนพ.ค. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. หรือจุดต่ำสุดรอบ 6 เดือน และอยู่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ 76.0 อย่างไรก็ดี การคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคสหรัฐสำหรับช่วง 1 ปีข้างหน้าพุ่งขึ้นสู่ 3.5% ในเดือนพ.ค. จาก 3.2% ในเดือนเม.ย. และการคาดการณ์เงินเฟ้อสำหรับช่วง 5 ปีข้างหน้าปรับขึ้นสู่ 3.1% ในเดือนพ.ค. จาก 3.0% ในเดือนเม.ย. ทั้งนี้ การคาดการณ์เงินเฟ้อสำหรับช่วง 1 ปีข้างหน้ายังคงอยู่สูงกว่าระดับ 2.3-3.0% ที่เคยทำไว้ในช่วง 2 ปีก่อนเกิดวิกฤติโรคระบาด และการคาดการณ์เงินเฟ้อสำหรับช่วง 5 ปีข้างหน้าก็ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 2.2-2.6% ที่เคยทำไว้ในช่วง 2 ปีก่อนเกิดวิกฤติโรคระบาด อย่างไรก็ดี การคาดการณ์เงินเฟ้อสำหรับช่วง 5 ปีข้างหน้าเคลื่อนตัวในกรอบ 2.9-3.1% มาเป็นเวลานานถึง 30 เดือนในช่วง 34 เดือนที่ผ่านมา

  • อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐเร่งตัวขึ้นในไตรมาสแรก แต่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มชะลอตัวลงอีกครั้งในไตรมาสสอง ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวลง โดยเป็นผลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 5.25% นับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2022 เป็นต้นมา ทั้งนี้ นักลงทุนคาดว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานในวันพุธนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สหรัฐชะลอตัวลงในเดือนเม.ย. หลังจากดัชนี CPI อยู่ในระดับสูงมานาน 3 เดือนติดต่อกัน และนักลงทุนก็คาดการณ์อีกด้วยว่า เฟดจะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย.

  • นายคอนราด เดอควาดรอส ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของบริษัทเบรียน แคปิตัลกล่าวว่า "ถ้าหากไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เฟดก็ไม่มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงสู่ 2% ได้อย่างยั่งยืน" และเขากล่าวเสริมว่า "การคาดการณ์เงินเฟ้อที่อยู่ภายใต้การควบคุมถือเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการคาดการณ์นี้ และการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวที่ 3.1% ก็ถือว่าอยู่ใกล้กับระดับเพดานของกรอบตัวเลขที่เฟดมองว่ายังคงอยู่ภายใต้การควบคุม"

  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐดิ่งลงในเดือนพ.ค. ในขณะที่ภาคครัวเรือนกังวลกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นและกังวลกับการว่างงาน อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์กล่าวเตือนว่า นักลงทุนไม่ควรจะสรุปความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโดยยึดจากรายงานฉบับนี้ โดยนายไมเคิล เพียร์ซ รองหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สหรัฐของบริษัทอ็อกซ์ฟอร์ด อิโคโนมิคส์กล่าวว่า "ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเป็นตัวเลขที่แกว่งตัวแบบเดือนต่อเดือน และไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา" และเขากล่าวเสริมว่า "ความยืดหยุ่นของปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคขึ้นอยู่กับฐานะการเงินที่แข็งแกร่งของภาคครัวเรือนและตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง ซึ่งก็มีเพียงแค่การทรุดตัวลงของตลาดแรงงานเท่านั้นที่จะส่งผลให้เราคาดการณ์ว่า จะมีสัญญาณบ่งชี้อย่างชัดเจนถึงความอ่อนแอทางเศรษฐกิจปรากฏออกมามากยิ่งขึ้น"

  • โจแอน ฉู่ ผู้อำนวยการฝ่ายการสำรวจผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกนกล่าวว่า ผู้บริโภค "แสดงความกังวลมากยิ่งขึ้นว่า อัตราเงินเฟ้อ, อัตราการว่างงาน และอัตราดอกเบี้ยอาจจะปรับตัวไปในทิศทางที่ไม่พึงประสงค์ในช่วงหนึ่งปีข้างหน้า" ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์พบว่าเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายได้ว่า เพราะเหตุใดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคถึงดิ่งลงอย่างรุนแรงในเดือนพ.ค. เนื่องจากราคาน้ำมันเบนซินทรงตัวในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และตลาดหุ้นก็มีแนวโน้มปรับขึ้นเป็นส่วนใหญ่--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้