ReutersReuters

JAPAN:กองทุนลดสถานะขายสุทธิเยน 20%,ลดครั้งใหญ่สุดในรอบ 4 ปี

ออร์แลนโด,รัฐฟลอริดา--13 พ.ค.--รอยเตอร์

  • คณะกรรมการค้าสัญญาล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ของสหรัฐ (CFTC) รายงานในวันศุกร์ว่า กลุ่มกองทุนเฮดจ์ฟันด์และนักเก็งกำไรปรับลดสถานะขายสุทธิในเยนลง 33,466 สัญญา สู่ 134,922 สัญญาในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 พ.ค. หลังจากที่สถานะขายสุทธิเยนเพิ่งพุ่งขึ้นแตะ 179,919 สัญญาในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 เม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2007 และถือเป็นสถิติสูงสุดอันดับสอง โดยการปรับลดสถานะขายสุทธิในเยนลงราว 20% ในสัปดาห์ล่าสุดนี้ ถือเป็นการปรับสถานะการลงทุนในเยนไปในทางบวกครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2020 เป็นต้นมา หรือครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 4 ปี ทั้งนี้ ถ้าหากวัดในรูปของดอลลาร์แล้ว สถานะขายสุทธิเยนก็มีขนาด 1.09 หมื่นล้านดอลลาร์ในสัปดาห์ล่าสุด โดยดิ่งลงจาก 1.33 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย. และรูดลงจาก 1.45 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 เม.ย.

  • ดอลลาร์/เยนเพิ่งพุ่งขึ้นแตะ 160.245 เยนในวันที่ 29 เม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1990 หรือจุดสูงสุดรอบ 34 ปี และปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้ทางการญี่ปุ่นเข้ามาแทรกแซงในตลาดปริวรรตเงินตราเพื่อหนุนค่าเงินเยนในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 พ.ค. โดยมีการประเมินกันว่าทางการญี่ปุ่นอาจใช้เงินราว 2.36 หมื่นล้านดอลลาร์ในการแทรกแซงตลาดในสัปดาห์นั้น อย่างไรก็ดี ดอลลาร์/เยนได้ดีดขึ้นจากจุดต่ำสุดของวันที่ 3 พ.ค.ที่ 151.86 เยน สู่ 155.85 เยนในวันนี้ ทั้งนี้ นายเจมี แมคกีเวอร์ ผู้เขียนคอลัมน์ของรอยเตอร์ระบุว่า ถ้าหากการแทรกแซงตลาดของทางการญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายไปยังนักเก็งกำไร รายงานตัวเลขของ CFTC ในครั้งนี้ก็อาจแสดงให้เห็นว่า ทางการญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการแทรกแซงตลาดในครั้งนี้

  • นายแมคกีเวอร์ระบุว่า การแทรกแซงตลาดในช่วงปลายเดือนเม.ย.และต้นเดือนพ.ค.ส่งผลให้ดอลลาร์/เยนมีโอกาสปรับตัวได้ในทั้งสองทิศทางอีกครั้ง และกลุ่มกองทุนก็อาจจะมีความเต็มใจน้อยลงในการเทขายเยนครั้งใหญ่ในช่วงที่เยนอยู่ในระดับต่ำมากแบบนี้ เพราะกลุ่มกองทุนรู้ว่า กระทรวงการคลังญี่ปุ่นอาจจะกลับเข้ามาแทรกแซงตลาดได้อีก ทั้งนี้ นักวิเคราะห์สกุลเงินของธนาคารโกลด์แมน แซคส์ระบุว่า การแทรกแซงตลาด "น่าจะส่งผลกระทบในระยะยาวได้บ้าง" ต่อค่าเงินเยน แต่ภาวะเศรษฐกิจมหภาคยังคงส่งผลลบต่อค่าเงินเยน

  • นายจอร์จ ซาราเวลอส จากธนาคารดอยช์ แบงก์ระบุว่า ตราบใดที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ยังไม่ส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ ปัจจัยพื้นฐานก็จะยังคงส่งผลลบต่อเยนต่อไป โดยรายงานวิจัยของดอยช์ แบงก์แสดงให้เห็นอีกด้วยว่า กองทุนเฮดจ์ฟันด์อาจเข้าซื้อดอลลาร์/เยนเป็นจำนวนมากในวันที่ 29 เม.ย.และ 1 พ.ค. ซึ่งเป็นวันที่หลายคนเชื่อว่าทางการญี่ปุ่นเทขายดอลลาร์/เยนออกมา ทั้งนี้ บีโอเจได้เปิดเผยรายงานสรุปความเห็นในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินประจำวันที่ 25-26 เม.ย.ออกมาในสัปดาห์ที่แล้ว โดยรายงานระบุว่า สมาชิกหลายคนในคณะกรรมการกำหนดนโยบายของบีโอเจได้หันมาแสดงความเห็นแบบสายเหยี่ยวเป็นอย่างมากในการประชุมเดือนเม.ย. โดยสมาชิกหลายคนเรียกร้องให้บีโอเจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสกัดกั้นความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสูงเกินไป ทางด้านนายแมคกีเวอร์ระบุว่า รายงานสรุปนี้บ่งชี้ว่า หลังจากบีโอเจได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งสำคัญไปแล้วในเดือนมี.ค.ปีนี้ บีโอเจก็อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่สองในเดือนมิ.ย.หรือก.ค.ปีนี้

  • การปรับลดสถานะขายสุทธิเยนลงครั้งใหญ่ในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 พ.ค. ส่งผลให้กลุ่มกองทุนปรับลดสถานะซื้อสุทธิในดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลเงินกลุ่มจี-10 ลงเป็นอย่างมากในสัปดาห์นั้นด้วย โดยสถานะซื้อสุทธิในดอลลาร์สหรัฐดิ่งลงสู่ 2.77 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 พ.ค. จาก 3.27 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย. และจาก 3.63 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 เม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดรอบ 5 ปี--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้