ReutersReuters

ตลาดเงินนิวยอร์ค:ดอลล์ปรับขึ้นขณะตลาดรอดูดัชนี CPI

นิวยอร์ค--13 พ.ค.--รอยเตอร์

  • ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในวันศุกร์ ในขณะที่นักลงทุนพิจารณาถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และรอดูตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่จะได้รับการรายงานออกมาในสัปดาห์หน้า ซึ่งรวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และยอดค้าปลีก ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมิชิแกนได้รายงานในวันศุกร์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐดิ่งลงจาก 77.2 ในเดือนเม.ย. สู่ 67.4 ในเดือนพ.ค. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. หรือจุดต่ำสุดรอบ 6 เดือน และอยู่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ 76.0 อย่างไรก็ดี การคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคสหรัฐสำหรับช่วง 1 ปีข้างหน้าพุ่งขึ้นสู่ 3.5% ในเดือนพ.ค. จาก 3.2% ในเดือนเม.ย. และการคาดการณ์เงินเฟ้อสำหรับช่วง 5 ปีข้างหน้าปรับขึ้นสู่ 3.1% ในเดือนพ.ค. จาก 3.0% ในเดือนเม.ย.

  • ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 105.31 ในช่วงท้ายตลาดวันศุกร์ โดยแข็งค่าขึ้นจาก 105.22 ในช่วงท้ายตลาดวันพฤหัสบดี โดยดัชนีดอลลาร์สามารถปิดตลาดสัปดาห์นี้ในแดนบวก หลังจากปิดตลาดรายสัปดาห์ในแดนลบมานานติดต่อกัน 2 สัปดาห์

    ดอลลาร์/เยนอยู่ที่ 155.72 เยนในช่วงท้ายตลาดวันศุกร์ โดยปรับขึ้นจากระดับปิดตลาดวันพฤหัสบดีที่ 155.46 เยน โดยดอลลาร์/เยนปิดตลาดสัปดาห์นี้ด้วยการพุ่งขึ้น 1.79% จากสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากที่เพิ่งดิ่งลง 3.4% ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการดิ่งลงรายสัปดาห์ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ต้นเดือนธ.ค. 2022 เป็นต้นมา โดยดอลลาร์/เยนอาจได้รับแรงกดดันจากการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เข้ามาแทรกแซงตลาด 2 ครั้งในสัปดาห์ที่แล้ว

    ยูโร/ดอลลาร์อยู่ที่ 1.0769 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันศุกร์ โดยอ่อนค่าลงจาก 1.0781 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี

  • ดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากถ้อยแถลงของลอรี โลแกน ประธานเฟดสาขาดัลลัสที่กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า นโยบายการเงินอยู่ในภาวะเข้มงวดมากพอสำหรับการทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ได้หรือไม่ และช่วงเวลานี้ถือเป็นเวลาที่เร็วเกินไปสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี นายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตากล่าวว่า เฟดยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ ถึงแม้ว่ากำหนดเวลาและขนาดของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยยังคงไม่มีความแน่นอน ทางด้านนายออสตัน กูลส์บี ประธานเฟดสาขาชิคาโกกล่าวว่า เขาเชื่อว่านโยบายการเงินของสหรัฐอยู่ในภาวะเข้มงวดในปัจจุบัน ทั้งนี้ นักลงทุนคาดการณ์ในตอนนี้ว่า มีโอกาส 62.2% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 0.25% ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. และนักลงทุนคาดว่าเฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงรวมกันราว 0.50% ในปีนี้

  • นายชุนอิชิ ซูซูกิ รมว.คลังญี่ปุ่นกล่าวในวันศุกร์ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมในตลาดปริวรรตเงินตราตามความจำเป็น

  • ปอนด์อยู่ที่ 1.2521 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงท้ายวันศุกร์ ซึ่งใกล้เคียงกับ 1.2520 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ (ONS) รายงานในวันศุกร์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของอังกฤษขยายตัว 0.6% ในไตรมาสเดือนม.ค.-มี.ค. ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4/2021 หรือสูงที่สุดในรอบกว่า 2 ปี และส่งผลให้เศรษฐกิจอังกฤษสามารถหลุดออกจากภาวะถดถอยที่เคยเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 โดยอัตราการเติบโตที่ 0.6% นี้อยู่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ +0.4% ด้วย หลังจากที่ก่อนหน้านี้จีดีพีอังกฤษเพิ่งหดตัวลง 0.3% ในไตรมาส 4/2023--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้