ReutersReuters

JAPAN:อดีตผู้บริหารคาด BOJ จะขึ้นดบ.ในก.ค.-ต.ค.,ขึ้นดบ.ต่อในปีหน้า

โตเกียว--10 พ.ค.--รอยเตอร์

  • นายเออิจิ มาเอดะ อดีตผู้บริหารธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวในการให้สัมภาษณ์ต่อรอยเตอร์ในวันนี้ว่า บีโอเจมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในช่วงเดือนก.ค.-ต.ค. และจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปีหน้าและหลังจากนั้น ถ้าหากเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงฟื้นตัวในอัตราปานกลางต่อไป และเขายังคาดการณ์อีกด้วยว่า บีโอเจจะปรับลดขนาดการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) ลงในช่วงต่อไปในปีนี้ จากอัตราการเข้าซื้อในปัจจุบันที่ 6 ล้านล้านเยน (3.85 หมื่นล้านดอลลาร์) ต่อเดือน ทั้งนี้ เขากล่าวว่า "เมื่อพิจารณาจากการสื่อสารของบีโอเจในเดือนเม.ย. ก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่า บีโอเจตั้งใจที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป" และเขากล่าวเสริมว่า "บีโอเจอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทุก ๆ 6 เดือนตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป แต่บีโอเจอาจจะเร่งความเร็วขึ้นเป็นทุก ๆ 3 เดือนโดยขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ"

  • บีโอเจเพิ่งยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่เคยใช้มานาน 8 ปีในเดือนมี.ค. เนื่องจากบีโอเจคาดว่าการปรับขึ้นค่าแรงในญี่ปุ่นจะช่วยกระตุ้นการบริโภค และจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อเคลื่อนตัวอยู่ใกล้ระดับเป้าหมายที่ 2% ได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ บีโอเจยังคาดการณ์ในรายงานรายไตรมาสที่ออกมาในเดือนเม.ย.อีกด้วยว่า อัตราเงินเฟ้อจะเคลื่อนตัวอยู่ใกล้ 2% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่า บีโอเจมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

  • นายคาสุโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการบีโอเจกล่าวในเดือนเม.ย.ว่า เขาคาดว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะปรับขึ้นเข้าใกล้ "อัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลาง" (หรืออัตราดอกเบี้ยที่ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจและไม่ถ่วงเศรษฐกิจ) ของญี่ปุ่นในช่วงราวปลายปี 2025 และในปี 2026 ทั้งนี้ นายมาเอดะกล่าวว่า บีโอเจน่าจะมองว่าบีโอเจมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นสู่ระดับราว 1.75% ได้ในอนาคต ถ้าหากพิจารณาจากรายงานรายไตรมาสของบีโอเจในส่วนของการประเมินอัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลาง

  • นายมาเอดะกล่าวว่า สิ่งนี้หมายความว่าบีโอเจอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ถ้าหากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวตามความคาดหมาย และเขากล่าวเสริมว่า "เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะยังคงฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปต่อไป นอกจากว่าเศรษฐกิจโลกจะตกต่ำลงอย่างรุนแรง" ในขณะที่ปริมาณการบริโภคในญี่ปุ่นจะได้รับแรงหนุนจากการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น

  • นายมาเอดะกล่าวว่า บีโอเจไม่มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยมีจุดประสงค์เพียงเพื่อทำให้เยนชะลอการดิ่งลง แต่เขากล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของเยนอาจจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในปัจจุบันนี้ในระดับที่รุนแรงกว่าในอดีต เพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นในอดีตเคยประสบกับภาวะเงินฝืดหรือภาวะที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำมาก ทั้งนี้ เขากล่าวว่า "ปัจจัยดังกล่าวบ่งชี้ว่า ผลกระทบที่ภาวะเงินเฟ้อได้รับจากการอ่อนค่าของเยน ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายการเงิน"--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้