ReutersReuters

ตลาดหุ้น,บอนด์ปรับตัวผันผวน ขณะเศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณไร้ทิศทาง

  • นักลงทุนได้เผชิญกับการตั้งรับภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐมาสู่การเตรียมตัวรับเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปก็ขยายตัวดีกว่าคาดในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นความท้าทายสำหรับเทรดเดอร์ที่พยายามคาดเดาว่า นักการธนาคารกลางจะลดอัตราดอกเบี้ยลงมากเท่าใด

  • นักวิเคราะห์หลายคนคิดว่า นี่จะเป็นปีที่เศรษฐกิจสหรัฐได้รับผลกระทบ หลังจากที่การคาดการณ์เดียวกันพบว่าผิดพลาดในปีที่แล้ว แต่เศรษฐกิจสหรัฐก็ยังคงสดใส ซึ่งจะยังคงทำให้มีแรงกดดันต่อราคา โดยมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นิยมใช้นั้น เพิ่มขึ้น 2.7% ในเดือนมี.ค. จาก 2.5% ในเดือนก.พ. แต่ก็มีรอยร้าวอยู่หลายตัว เมื่อเศรษฐกิจในไตรมาสแรกขยายตัวต่ำกว่าคาด เช่นเดียวกับตัวเลขจ้างงานในเดือนเม.ย. และในขณะที่เทรดเดอร์กำลังเตรียมตัวรับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นนานขึ้น ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวขึ้น และราคาร่วงลง จึงทำให้แรงบวกในปีที่แล้วหายไปจนหมด และดัชนี S&P 500 ร่วงลง 4% ในเดือนเม.ย.ก่อนที่จะดีดตัวขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

  • เศรษฐกิจอังกฤษ และยูโรโซนขยายตัวไม่น่าประทับใจนัก แต่ก็กำลังเริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะเพิ่มความรู้สึกที่ว่า การลดอัตราดอกเบี้ยจะถูกจำกัด โดยเศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัวอีกครั้งในไตรมาสแรก หลังจากถดถอยเล็กน้อย ขณะที่เศรษฐกิจของอังกฤษขยายตัวในเดือนม.ค.และก.พ. และคาดว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนอยู่ที่ 2.4% ในเดือนเม.ย. การคาดการณ์การลดดอกเบี้ยจึงถูกปรับลดลง แต่เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าของสหรัฐทำให้นักลงทุนพากันเข้าซื้อดอลลาร์ จึงทำให้ยูโรร่วงกว่า 2% ในปีนี้

  • ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นมากในเดือนมี.ค.และเม.ย. ขณะที่มีความวิตกมากขึ้นเกี่ยวกับความขัดแย้งในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ซึ่งปัญหาขัดข้องด้านอุปทาน และการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ทั่วโลกมีส่วนทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งขึ้น โดยเฉพาะทองแดง แต่ราคาก็ชะลอตัวลงอีกครั้ง โดยดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์เอสแอนด์พี โกลด์แมน แซคส์ร่วงลง 4% นับตั้งแต่พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือนในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นสัญญาณบวกสำหรับนักการธนาคารกลางที่พยายามจะลดเงินเฟ้อ

  • หุ้นประเทศพัฒนาแล้วร่วงลงราว 4% ในเดือนเม.ย. หลังจากพุ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมี.ค. ก่อนที่จะพุ่งขึ้นอีกครั้งในเดือนพ.ค.และต่ำกว่าระดับสูงสุดราว 1% ขณะที่หุ้นและเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์ที่ผันผวนบ่อย โดยบางครั้งข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีของสหรัฐหนุนหุ้น แต่ก็มีหลายครั้งที่ข้อมูลกดดันหุ้น ซึ่งนักกลยุทธ์บางคนเชื่อว่า การพุ่งขึ้นของต้นทุนการกู้ของสหรัฐยังไม่ส่งผลกระทบอย่างเต็มที่ แต่ดัชนีหุ้นยังคงอยู่ใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก และผลสำรวจเดือนเม.ย.ของแบงก์ ออฟ อเมริกาพบว่า ผู้จัดการกองทุนมีมุมมองเชิงบวกมากที่สุดในรอบกว่า 2 ปี โดยเชื่อว่า ธนาคารกลางต่างๆน่าจะยังคงสามารถทำให้เงินเฟ้อลดลงได้โดยไม่ทำให้ตกต่ำ

  • ดอลลาร์แข็งค่าเกือบ 4% แล้วในปีนี้ โดยคาดการณ์ที่ว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้นนานขึ้นนั้นกำลังดึงเม็ดเงินกลับสหรัฐ ขณะที่สกุลเงินอื่นๆเกือบทั้งหมดร่วงลง โดยรูปีของอินเดียร่วงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนเม.ย. ขณะที่เปโซของอาร์เจนตินา, เรียลของบราซิล และอีกหลายสกุลร่วงลง ทั้งนี้ ดอลลาร์ที่แข็งค่าทำให้หนี้สกุลดอลลาร์ชำระได้ยากขึ้น จึงสร้างแรงกดดันต่อกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ แต่นั่นก็ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้นด้วย จึงเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะกลับมา และความวิตกเกี่ยวกับค่าเงินอาจจะทำให้การลดดอกเบี้ยเป็นไปได้น้อยลงในกลุ่มประเทศเกิดใหม่--จบ--

Eikon source text

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้