ReutersReuters

UK:ชี้การแทรกแซงค่าเงินเยนอาจช่วยเปิดโอกาสให้ธ.กลางอังกฤษลดดบ.ในมิ.ย.

ลอนดอน--8 พ.ค.--รอยเตอร์

  • นายไมค์ โดแลน ผู้เขียนคอลัมน์ของรอยเตอร์ระบุว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) อาจจะไม่ต้องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงก่อนหน้าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นเวลานานหลายเดือน เพราะว่าการทำเช่นนั้นอาจจะส่งผลลบต่อค่าเงินปอนด์ อย่างไรก็ดี การที่ทางการญี่ปุ่นเข้ามาแทรกแซงตลาดด้วยการเทขายดอลลาร์สหรัฐออกมาในช่วงนี้ อาจจะส่งผลบวกต่ออัตราแลกเปลี่ยนปอนด์/ดอลลาร์ และปัจจัยนี้อาจจะช่วยเปิดโอกาสให้บีโออีสามารถเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อนหน้าเฟดได้ ทั้งนี้ บีโออีจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายในวันพฤหัสบดีนี้ และนักลงทุนก็คาดว่า บีโออีจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25% ตามเดิมในการประชุมครั้งนี้ อย่างไรก็ดี นักลงทุนมุ่งความสนใจในตอนนี้ไปยังประเด็นที่ว่า บีโออีจะส่งสัญญาณหรือไม่ว่า บีโออีอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 20 มิ.ย. ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มีแนวโน้มที่จะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 6 มิ.ย.

  • นายเดฟ แรมส์เดน รองผู้ว่าการบีโออีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่น ๆ ในบีโออีส่งสัญญาณแบบสายพิราบออกมาในช่วงนี้ ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่เฟดบางคนส่งสัญญาณว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงต่อไปเป็นเวลานานก็ตาม ทั้งนี้ นักลงทุนในตลาดเงินคาดว่า มีโอกาส 90% ที่อีซีบีจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงจากระดับ 4.00% ในการประชุมวันที่ 6 มิ.ย. แต่มีโอกาสน้อยกว่า 50% ที่บีโออีจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจากระดับ 5.25% ในการประชุมวันที่ 20 มิ.ย. อย่างไรก็ดี มีโอกาสสูงมากที่บีโออีจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ก่อนหรือในการประชุมวันที่ 1 ส.ค. นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดการณ์อีกด้วยว่า มีโอกาสสูงมากที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงก่อนหรือในการประชุมวันที่ 6-7 พ.ย. ดังนั้นสิ่งนี้จึงบ่งชี้ว่า ผู้กำหนดนโยบายของบีโออีอาจจะพึงพอใจกับการเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเวลาที่ช้ากว่าอีซีบี แต่เร็วกว่าเฟด

  • การที่บีโออีลังเลที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนเดียวกับอีซีบี อาจจะมีสาเหตุบางส่วนมาจากความกังวลที่มีต่อการอ่อนค่าของปอนด์ เพราะว่าถ้าหากปอนด์/ดอลลาร์ดิ่งลง ต้นทุนการนำเข้าในอังกฤษก็จะพุ่งสูงขึ้น ซึ่งรวมถึงราคานำเข้าพลังงาน, สินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าอื่น ๆ ที่อยู่ในรูปของดอลลาร์ และปัจจัยนี้อาจจะเป็นอุปสรรคขัดขวางการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อในอังกฤษ อย่างไรก็ดี ถ้าหากดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินหลายสกุล สถานการณ์ดังกล่าวก็จะช่วยกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่บีโออีกล้าที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ ทั้งนี้ นายโดแลนระบุว่า การที่รัฐบาลญี่ปุ่นเข้ามาแทรกแซงตลาดในสัปดาห์ที่แล้วด้วยการเทขายดอลลาร์สหรัฐออกมาเพื่อช่วยพยุงค่าเงินเยน อาจจะช่วยกดดันดอลลาร์สหรัฐให้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินหลายสกุล และดอลลาร์ก็ได้รับแรงกดดันจากการที่เฟดส่งสัญญาณว่า เฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งด้วย

  • นักยุทธศาสตร์การลงทุนของธนาคารมอร์แกน สแตนเลย์ระบุว่า ในช่วงที่ญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงตลาดด้วยการเทขายดอลลาร์ในช่วงปลายปี 2022 นั้น ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินดิ่งลง 10% ในช่วงเวลา 3 เดือนต่อมา ในขณะที่ยูโรครองน้ำหนักเกือบ 60% ในดัชนีดอลลาร์, เยนครองน้ำหนัก 14% และปอนด์ครองน้ำหนัก 12% ในดัชนีดอลลาร์ โดยดัชนีดอลลาร์ได้รับแรงกดดันในช่วงนั้นจากการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐ และจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในจีนด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ถ้าหากดอลลาร์ได้รับแรงกดดันในช่วงนี้ บีโออีก็จะมีความเต็มใจมากยิ่งขึ้นในการปรับนโยบายการเงินในแบบที่เป็นอิสระจากเฟด

  • นักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนเลย์ประเมินว่า ปอนด์/ดอลลาร์อาจจะแกว่งตัว 4.5% ถ้าหากส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐกับอังกฤษประเภทอายุ 2 ปีร่วงลงทุก 1.00% ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอังกฤษจะไม่ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ดิ่งลงอย่างรุนแรงมากนัก และปัจจัยนี้จะเปิดโอกาสให้บีโออีสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อนหน้าเฟด ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ของธนาคารดอยช์ แบงก์ระบุว่า ความผันผวนในตลาดปริวรรตเงินตราอยู่ในระดับต่ำ และปัจจัยนี้ส่งผลให้ปอนด์ได้รับผลกระทบน้อยลงจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และนักวิเคราะห์ของดอยช์ แบงก์ก็คาดว่า ปอนด์จะอ่อนค่าลงเพียง 3.5% เท่านั้น ถ้าหากส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐกับอังกฤษประเภทอายุ 2 ปีร่วงลงทุก 1.00% และการที่ปอนด์ได้รับผลกระทบเพียงในวงจำกัดแบบนี้ จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออังกฤษขยับขึ้นเพียง 0.06% เท่านั้นในช่วงหนึ่งปีต่อมา--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้