ReutersReuters

MORNING BRIEF:สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ

กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--รอยเตอร์

  • ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินหลายสกุลในวันจันทร์เป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน ในขณะที่ตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐและถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ช่วยกระตุ้นให้นักลงทุนคาดการณ์เรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดี ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเยนในวันจันทร์ หลังจากที่เพิ่งดิ่งลงในสัปดาห์ที่แล้วโดยอาจได้รับแรงกดดันจากการที่ทางการญี่ปุ่นเข้ามาแทรกแซงตลาดเพื่อหนุนค่าเงินเยน 2 ครั้ง ทั้งนี้ ดอลลาร์ได้รับแรงกดดัน หลังจากสำนักงานสถิติแรงงาน (BLS) ในกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันศุกร์ที่ 3 พ.ค.ว่า การจ้างงานนอกภาคเกษตรในสหรัฐเพิ่มขึ้น 175,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน หรือต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2023 เป็นต้นมา โดยรายงานตัวเลขดังกล่าวช่วยลดความกังวลที่ว่า เฟดอาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงต่อไปเป็นเวลานาน Eikon source text

    ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 105.15 ในช่วงท้ายตลาดวันจันทร์ โดยแข็งค่าขึ้นจาก 105.09 ในช่วงท้ายตลาดวันศุกร์

    ดอลลาร์/เยนอยู่ที่ 153.88 เยนในช่วงท้ายตลาดวันจันทร์ โดยพุ่งขึ้นจากระดับปิดตลาดวันศุกร์ที่ 152.98 เยน หลังจากดอลลาร์/เยนเพิ่งดิ่งลง 3.5% ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการดิ่งลงรายสัปดาห์ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ต้นเดือนธ.ค. 2022 และออกห่างจากระดับ 160.245 เยนที่ทำไว้ในวันจันทร์ที่ 29 เม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1990 หรือจุดสูงสุดรอบ 34 ปี

    ยูโร/ดอลลาร์อยู่ที่ 1.0768 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันจันทร์ โดยแข็งค่าขึ้นจาก 1.0758 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันศุกร์

  • ตลาดหุ้นสหรัฐพุ่งขึ้นในวันจันทร์ และปิดตลาดในแดนบวกเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน ในขณะที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ โดยความเชื่อมั่นดังกล่าวได้รับแรงหนุนจากตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐที่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรงเกินคาดในเดือนเม.ย. ในขณะที่นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์คกล่าวในวันจันทร์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในที่สุด แต่เขาไม่ได้ระบุถึงกรอบเวลาที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง และเขากล่าวเสริมว่า นโยบายการเงินอยู่ในภาวะที่ดีมากในปัจจุบัน ทางด้านนายโธมัส บาร์คิน ประธานเฟดสาขาริชมอนด์กล่าวในวันจันทร์ว่า อัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันอยู่ในระดับที่เข้มงวดมากพอที่จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง และทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับคืนสู่ระดับเป้าหมายที่เฟดตั้งไว้ที่ 2% และเขากล่าวเสริมว่า ความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานทำให้เจ้าหน้าที่เฟดมีเวลารอต่อไป ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในวันจันทร์ โดยได้รับแรงหนุนจากราคาสัญญาล่วงหน้าก๊าซธรรมชาติของสหรัฐที่ทะยานขึ้นแตะจุดสูงสุดในรอบ 14 สัปดาห์ ส่วนดัชนีหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐพุ่งขึ้น 2.21% ในวันจันทร์ โดยได้รับแรงหนุนจากหุ้นบริษัทอาร์ม โฮลดิงส์ที่ทะยานขึ้น 5.2% ก่อนที่อาร์มจะเปิดเผยผลประกอบการในช่วงต่อไปในสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ ห้นบริษัทผู้ผลิตชิปแห่งอื่น ๆ ก็พุ่งขึ้นในวงกว้าง โดยหุ้นไมครอน เทคโนโลยีพุ่งขึ้น 4.7% หลังจากบริษัท Baird ปรับขึ้นอันดับความน่าลงทุนของหุ้นไมครอน ทางด้านหุ้นบริษัทแอดวานซ์ ไมโคร ดีไวเซส (AMD) ทะยานขึ้น 3.4% และหุ้นบริษัทซูเปอร์ ไมโคร คอมพิวเตอร์พุ่งขึ้น 6.1% ในวันจันทร์ Eikon source text

    ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดบวกขึ้น 0.46% สู่ 38,852.27

    ดัชนี S&P 500 ปิดพุ่งขึ้น 1.03% สู่ 5,180.74

    ดัชนี Nasdaq ปิดทะยานขึ้น 1.19% สู่ 16,349.25

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX ปรับขึ้นในวันจันทร์ ในขณะที่อิสราเอลกับกลุ่มฮามาสยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องการหยุดยิงได้ โดยเจ้าหน้าที่อิสราเอลกล่าวว่า ข้อเสนอจากอียิปต์ที่กลุ่มฮามาสยอมรับนั้น เป็นข้อเสนอที่มีแง่มุมบางประการที่อิสราเอลไม่สามารถยอมรับได้ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันก็ได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากการที่ซาอุดิอาระเบียปรับขึ้นราคาขายน้ำมันดิบอย่างเป็นทางการในเดือนมิ.ย.สำหรับลูกค้าในทวีปเอเชีย, ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรป และในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้วย และสิ่งนี้บ่งชี้ถึงการคาดการณ์ที่ว่า อุปสงค์น้ำมันจะอยู่ในระดับสูงในฤดูร้อนปีนี้ ทั้งนี้ นายแอนดรูว์ ลิพาว ประธานบริษัทลิพาว ออยล์ แอสโซซิเอทส์กล่าวว่า เขาคาดว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) จะประกาศในการประชุมเดือนมิ.ย.เรื่องแผนการดำเนินมาตรการปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันต่อไปในไตรมาสสาม Eikon source text

    ราคาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนมิ.ย.ปรับขึ้น 37 เซนต์ หรือ 0.5% มาปิดตลาดที่ $78.48 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่งปิดตลาดสัปดาห์ที่แล้วด้วยการดิ่งลง 6.8% จากสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ซึ่งถือเป็นการดิ่งลงรายสัปดาห์ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 3 เดือน

    ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ค.ที่ตลาดกรุงลอนดอนปรับขึ้น 37 เซนต์ หรือ 0.5% มาปิดตลาดที่ 83.33 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากแกว่งตัวในช่วง 82.77-83.83 ดอลลาร์ในระหว่างวัน โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์เพิ่งปิดตลาดสัปดาห์ที่แล้วด้วยการดิ่งลงกว่า 7% จากสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ซึ่งถือเป็นการดิ่งลงรายสัปดาห์ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 3 เดือน

  • ราคาทองสปอตที่ตลาดสหรัฐพุ่งขึ้น 22.01 ดอลลาร์ สู่ 2,323.57 อลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงท้ายตลาดวันจันทร์ ในขณะที่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินหลายสกุล หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่อ่อนแอเกินคาดในวันศุกร์ และตัวเลขดังกล่าวช่วยกระตุ้นการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงต่อไปในปีนี้ โดยก่อนหน้านี้ราคาทองเพิ่งดิ่งลงราว 1.5% ในสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ ราคาาทองก็ได้รับแรงหนุนจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย ทั้งนี้ ธนาคารโกลด์แมน แซคส์ระบุว่า "เรายังคงคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ โดยจะปรับลดในเดือนก.ค.และในเดือนพ.ย." Eikon source text

--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้