ReutersReuters

USA:สหรัฐเผยการจ้างงานเพิ่มขึ้นน้อยสุดในรอบ 6 เดือน

วอชิงตัน--7 พ.ค.--รอยเตอร์

  • สำนักงานสถิติแรงงาน (BLS) ในกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันศุกร์ที่ 3 พ.ค.ว่า การจ้างงานนอกภาคเกษตรในสหรัฐเพิ่มขึ้น 175,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ 243,000 ตำแหน่ง รวมทั้งอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาที่ 242,000 ตำแหน่ง โดยทาง BLS ได้ปรับทบทวนตัวเลขการจ้างงานของเดือนก.พ.และมี.ค.ลงจากเดิม 22,000 ตำแหน่งด้วย นอกจากนี้ ทางกระทรวงยังรายงานอีกด้วยว่า อัตราการว่างงานในสหรัฐปรับขึ้นจาก 3.8% ในเดือนมี.ค. สู่ 3.9% ในเดือนเม.ย. ในขณะที่อุปทานแรงงานเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราการว่างงานยังคงอยู่ต่ำกว่า 4% เป็นเดือนที่ 27 ติดต่อกัน

  • ค่าแรงเฉลี่ยต่อชั่วโมงปรับขึ้น 0.2% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากปรับขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค. ส่วนค่าแรงแบบเทียบรายปีปรับขึ้น 3.9% ในเดือนเม.ย. ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.ปี 2021 ที่ค่าแรงปรับขึ้นน้อยกว่า 4.0% และการปรับขึ้นครั้งนี้ถือว่าต่ำที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี โดยก่อนหน้านี้ค่าแรงเพิ่งพุ่งขึ้น 4.1% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบรายปี

  • ถึงแม้สหรัฐรายงานตัวเลขการจ้างงานที่ต่ำเกินคาด นักวิเคราะห์ก็มองว่า ขณะนี้ยังคงเป็นเวลาที่เร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อนการประชุมในวันที่ 17-18 ก.ย. เพราะว่าตลาดแรงงานยังคงอยู่ในภาวะตึงตัว โดยนักลงทุนในตลาดการเงินคาดการณ์ในวันศุกร์ว่า มีโอกาสราว 78% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนก.ย. โดยปรับขึ้นจากโอกาส 63% ที่เคยคาดไว้ก่อนสหรัฐรายงานตัวเลขจ้างงาน และนักลงทุนยังคาดการณ์ในวันศุกร์อีกด้วยว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีนี้ แทนที่จะเป็น 1 ครั้ง ทั้งนี้ นายไมเคิล เฟโรลี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สหรัฐของธนาคารเจพีมอร์แกนกล่าวว่า "เรายังคงคาดการณ์ตามเดิมว่า เฟดจะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ค. ถึงแม้ตลาดยังไม่ได้คาดการณ์แบบนั้น โดยเราเชื่อว่า ถ้าหากตัวเลขการจ้างงานในช่วง 2 เดือนข้างหน้ายังคงแสดงให้เห็นว่า กิจกรรมในตลาดแรงงานชะลอตัวลง เฟดก็จะต้องการปรับลดความเข้มงวดของนโยบายการเงินลงมาบ้าง” ทางด้านนายโจ บรูซูเอลาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัท RSM กล่าวว่า “ตลาดน่าจะมองว่า การจ้างงานที่ชะลอตัวลงสู่อัตราที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น จะส่งผลดีต่อแนวโน้มเงินเฟ้อในอนาคต และสิ่งนี้จะช่วยขจัดความกังวลที่ว่าจะเกิดวงจรการหนุนส่งกันอย่างต่อเนื่องระหว่างค่าแรงกับราคา นอกจากนี้ สิ่งนี้ก็จะช่วยสยบข่าวลือที่ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจชะงักงันแต่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงด้วย”

  • การจ้างงานในสหรัฐเพิ่มขึ้นในเดือนเม.ย.ในหลายภาคเศรษฐกิจ โดยการจ้างงานในภาคการแพทย์พุ่งขึ้น 56,000 ตำแหน่ง ซึ่งรวมถึงในภาคการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก และสถานบริบาล, การจ้างงานในภาคสังคมสงเคราะห์ทะยานขึ้น 31,000 ตำแหน่ง, การจ้างงานในภาคการขนส่งและโกดังสินค้าพุ่งขึ้น 22,000 ตำแหน่ง และการจ้างงานในภาคค้าปลีกทะยานขึ้น 20,100 ตำแหน่ง นอกจากนี้ การจ้างงานในภาคการก่อสร้าง, ภาครัฐบาล และภาคการพักผ่อนหย่อนใจกับบริการท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนการจ้างงานในภาคโรงงานเพิ่มขึ้นปานกลาง อย่างไรก็ดี การจ้างงานในภาคบริการธุรกิจและวิชาชีพ, ภาคสารสนเทศ และภาคเหมืองแร่กับการทำไม้ปรับลดลงเล็กน้อยในเดือนเม.ย. ในขณะที่สัดส่วนของอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มการจ้างงานอยู่ที่ 60.4% ในเดือนเม.ย. โดยปรับขึ้นจาก 59.6% ในเดือนมี.ค.

  • จำนวนชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ปรับลงสู่ 34.3 ชั่วโมงในเดือนเม.ย. จาก 34.4 ในเดือนมี.ค. ในขณะที่มีประชากรราว 87,000 คนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกำลังแรงงานในเดือนเม.ย. ทางด้านอัตราการเข้าร่วมในกำลังแรงงาน หรือสัดส่วนของชาวสหรัฐวัยทำงานที่มีงานทำหรือกำลังหางานทำ ทรงตัวอยู่ที่ 62.7% ในเดือนเม.ย. ทั้งนี้ จำนวนชาวสหรัฐที่ทำงานพาร์ทไทม์เพราะไม่สามารถหางานเต็มเวลาทำได้พุ่งขึ้น 135,000 คนในเดือนเม.ย. ในขณะที่สัดส่วนการจ้างงานต่อจำนวนประชากร ซึ่งถือเป็นมาตรวัดความสามารถของเศรษฐกิจสหรัฐในการสร้างงาน ขยับลงสู่ 60.2% ในเดือนเม.ย. จาก 60.3% ในเดือนมี.ค.--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้