ReutersReuters

EUROPE:อัตราเงินเฟ้อยูโรโซนทรงตัวที่ 2.4%,เงินเฟ้อพฐ.ชะลอตัวลงสู่ 2.7%

แฟรงค์เฟิร์ต--30 เม.ย.--รอยเตอร์

  • สำนักงานสถิติของสหภาพยุโรป (อียู) หรือยูโรสแตทรายงานในวันนี้ว่า อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิก 20 ประเทศ ทรงตัวที่ 2.4% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเท่ากับระดับในเดือนมี.ค. และตรงกับตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของยูโรโซน ซึ่งไม่รวมราคาอาหาร, พลังงาน, เหล้า และบุหรี่ ชะลอตัวลงจาก 2.9% ในเดือนมี.ค. สู่ 2.7% ในเดือนเม.ย. และสิ่งนี้ช่วยจะสนับสนุนให้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เริ่มต้นวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 6 มิ.ย. ทั้งนี้ อีซีบีได้ส่งสัญญาณไว้แล้วว่า มีโอกาสสูงที่อีซีบีจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมเดือนมิ.ย. ถ้าหากตัวเลขค่าแรงและอัตราเงินเฟ้อไม่ได้อยู่ในระดับที่น่าประเหลาดใจ

  • อัตราเงินเฟ้อในภาคบริการของยูโรโซนชะลอตัวลงสู่ 3.7% ในเดือนเม.ย. หลังจากเคยทรงตัวอยู่ที่ 4.0% มาเป็นเวลานานหลายเดือนแล้ว อย่างไรก็ดี การชะลอตัวลงในเดือนเม.ย.อาจจะเกิดจากการที่เทศกาลอีสเตอร์ปีนี้มาเร็วกว่าปีก่อน ๆ และผู้กำหนดนโยบายของอีซีบีก็ยังคงกังวลกับค่าแรงที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

  • อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนดิ่งลงอย่างรวดเร็วในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และส่งผลให้มีการคาดการณ์กันมานานหลายเดือนแล้วว่า อีซีบีจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในอนาคต ทางด้านผู้กำหนดนโยบายระบุว่า พวกเขาต้องการจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างความมั่นใจได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะตัวเลขค่าแรง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของยูโรโซนเคยอยู่ที่ 7.0% ในเดือนเม.ย.ปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของยูโรโซนเคยอยู่ที่ 5.6% ในเดือนเม.ย.ปี 2023

  • อีซีบีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ในปี 2022-2023 เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อสูง แต่อีซีบีได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไว้ที่ 4% นับตั้งแต่เดือนก.ย. 2023 เป็นต้นมา โดยให้เหตุผลว่าอีซีบีได้ดำเนินการไปมากพอแล้วในการจำกัดอุปสงค์และควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ผู้กำหนดนโยบายของอีซีบีแสดงความเห็นอย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้นในช่วงนี้ เนื่องจากราคาพลังงานพุ่งขึ้น และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และปัจจัยเหล่านี้อาจจะเป็นอุปสรรคขัดขวางการขนส่งสินค้า และส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทะยานสูงขึ้น

  • อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอยู่ในระดับที่สูงเกินคาดในช่วงที่ผ่านมา และปัจจัยนี้อาจจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เลื่อนกำหนดเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไป ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่ออีซีบีได้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ถ้าหากเฟดคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม แต่อีซีบีปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างยูโรโซนกับสหรัฐก็จะขยายกว้างมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ยูโรดิ่งลง และอัตราเงินเฟ้อจากราคานำเข้าพุ่งสูงขึ้น โดยปัจจัยนี้จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวในยูโรโซนปรับสูงขึ้นด้วย ซึ่งจะเป็นการลดทอนผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของอีซีบี--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้