ReutersReuters

วิเคราะห์การดิ่งลงจนแตะจุดต่ำสุด 34 ปีของเยนและการแทรกแซงตลาด

ลอนดอน--30 เม.ย.--รอยเตอร์

  • ดอลลาร์/เยนแข็งค่าขึ้น 0.36% สู่ 156.90 เยนในวันนี้ หลังจากดอลลาร์ได้พุ่งขึ้นแตะ 160.245 เยนในช่วงแรกของวันจันทร์ ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1990 หรือจุดสูงสุดรอบ 34 ปี ก่อนจะดิ่งลงแตะจุดต่ำสุดของวันจันทร์ที่ 154.40 เยนในเวลาต่อมา โดยการที่ดอลลาร์ดิ่งลงราว 6 เยนในระหว่างช่วงการซื้อขายวานนี้ทำให้นักลงทุนคาดการณ์กันว่า ทางการญี่ปุ่นอาจเข้ามาแทรกแซงในตลาดปริวรรตเงินตราเพื่อช่วยหนุนค่าเงินเยนในวันจันทร์ หลังจากที่ทางการญี่ปุ่นเคยระบุเตือนว่าอาจจะทำเช่นนั้นมาเป็นเวลานานหลายเดือนแล้ว โดยดอลลาร์/เยนพุ่งขึ้นมาแล้ว 11.25% จากช่วงต้นปีนี้

  • นักวิเคราะห์ได้ระบุถึงประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของเยนในช่วงนี้ โดยประเด็นแรกคือเรื่องการแทรกแซงตลาด โดยก่อนหน้านี้ทางการญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงตลาดครั้งสุดท้ายในเดือนก.ย.และต.ค. 2022 เพื่อช่วยหนุนค่าเงินเยนในช่วงที่ดอลลาร์พุ่งขึ้นเข้าใกล้ 152 เยน โดยมีการประเมินกันว่าทางการญี่ปุ่นใช้เงิน 9.2 ล้านล้านเยน (6.078 หมื่นล้านดอลลาร์) ในการแทรกแซงตลาดครั้งนั้น นอกจากนี้ ทางการญี่ปุ่นก็เคยเข้าแทรกแซงตลาดในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินเอเชียในปี 1998 ด้วย โดยเยนดิ่งลงเกือบ 25% ในเวลาเพียง 14 เดือนในช่วงนั้น และได้รูดลงเข้าใกล้ 148 เยนต่อดอลลาร์ในเดือนส.ค. 1998 ก่อนที่รัฐบาลสหรัฐจะร่วมมือกับญี่ปุ่นในการแทรกแซงตลาด ซึ่งส่งผลให้เยนพุ่งขึ้นกว่า 35% ในช่วง 4 เดือนต่อมา อย่างไรก็ดี ทางการญี่ปุ่นเคยเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อกดดันให้เยนอ่อนค่าด้วยเช่นกัน โดยในเดือนมี.ค. 2011 นั้น กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 หรือจี-7 ได้ร่วมมือกันสกัดกั้นการพุ่งขึ้นของเยน ในขณะที่เยนทะยานขึ้นแตะสถิติสูงสุดใหม่หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น

  • ประเด็นที่ 2 คือการที่เยนไม่ได้ดิ่งลงอย่างฉับพลันในช่วงที่ผ่านมา แต่เป็นการร่วงลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาและเป็นการรูดลงเมื่อเทียบกับเงินหลายสกุลด้วย โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั้น เยนดิ่งลงมาแล้ว 31% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ, รูดลง 29.5% เมื่อเทียบกับยูโร, ดิ่งลงเกือบ 36% เมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ซึ่งถือเป็นสกุลเงินปลอดภัยเหมือนกับเยน และรูดลง 29% เมื่อเทียบกับหยวนของจีน ทั้งนี้ ประเด็นที่ 3 คือประเด็นที่ว่า การดิ่งลงของเยนส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น ในขณะที่บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ดังนั้นการอ่อนค่าของเยนจึงช่วยให้สินค้าของบริษัทญี่ปุ่นมีประสิทธิภาพทางการแข่งขันมากยิ่งขึ้น โดยการอ่อนค่าของเยนมีส่วนช่วยหนุนให้ดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นพุ่งขึ้น 162.9% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่เยน/ดอลลาร์สหรัฐดิ่งลง 35.13% ในช่วงเวลาเดียวกัน ทางด้านดัชนี S&P 500 ของตลาดหุ้นสหรัฐทะยานขึ้น 174% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

  • ประเด็นที่ 4 คือประเด็นที่ว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้เยนดิ่งลงคืออัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นที่อยู่ต่ำกว่าของประเทศอื่น ๆ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสหรัฐ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) ราว 3.7% ในช่วงนี้ และปัจจัยนี้ส่งผลให้นักลงทุนสถาบันต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงกองทุนเงินบำนาญ มองว่า JGB ไม่มีความน่าดึงดูด ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้รัฐบาลญี่ปุ่นต่อจีดีพีญี่ปุ่นก็อยู่สูงกว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกด้วย โดยสัดส่วนหนี้รัฐบาลต่อจีดีพีญี่ปุ่นได้พุ่งขึ้นจาก 85% ในปี 1994 สู่ระดับใกล้ 260% ในปัจจุบัน หรือเท่ากับว่าพุ่งขึ้นกว่า 3 เท่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

  • ประเด็นที่ 5 คือประเด็นที่ว่า การดิ่งลงของเยนในช่วงต้นปีนี้ถือว่ารุนแรงกว่าในช่วงเดียวกันในปีก่อน ๆ โดยเยนดิ่งลงมาแล้ว 10.4% ในวันที่ 1 ม.ค.-29 เม.ย.ปีนี้ ซึ่งถือเป็นสถิติการดิ่งลงครั้งใหญ่อันดับ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในแต่ละปีในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ส่วนสถิติการดิ่งลงครั้งใหญ่ที่สุดคือการดิ่งลง 11.9% ในช่วงต้นปี 2013 ในขณะที่สถิติการดิ่งลงครั้งใหญ่อันดับ 2 คือการรูดลง 11.1% ในวันที่ 1 ม.ค.-29 เม.ย. 2022 ทั้งนี้ เยนดิ่งลงในช่วงเวลาเดียวกันนี้มาเป็นเวลานาน 5 ปีในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาด้วย โดยเยนร่วงลง 1.9% ในวันที่ 1 ม.ค.-29 เม.ย. 2019 แต่เยนพุ่งขึ้น 2% ในช่วงเวลาเดียวกันในปี 2020 ก่อนจะดิ่งลง 5.2% ในช่วงต้นปี 2021, รูดลง 11.1% ในช่วงต้นปี 2022 และอ่อนค่าลง 3.1% ในช่วงเวลาเดียวกันในปี 2023--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้