ReutersReuters

ธปท.เผยศก.ไทยมี.ค.ชะลอตามอุปสงค์ในปท.-ท่องเที่ยว, คาดศก. Q1 โต 1% จาก Q4 และปีก่อน

กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--รอยเตอร์

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เผยเศรษฐกิจไทยในเดือนมี.ค.ชะลอลงจากอุปสงค์ในประเทศและภาคท่องเที่ยว หลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อผ่านมาตรการลดหย่อนภาษี Easy E-receipt หมดลง

แต่การส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นในหลายหมวด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากหมวดอาหารสดและหมวดพลังงาน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในปีก่อน

ธปท.ระบุว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนมี.ค. เกินดุล 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับที่เกินดุล 2.0 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนก.พ. ขณะที่มูลค่าการส่งออกในเดือนมี.ค. หดตัว 10.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มูลค่าการนำเข้า เพิ่มขึ้น 5.2% ส่งผลให้มียอดเกินดุลการค้า 1.0 พันล้านดอลลาร์

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในเดือนมี.ค. ลดลง 0.8% จากเดือนก่อนหน้า และลดลง 0.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนลดลง หลังจากเร่งไปในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ผู้บริโภคกังวลเรื่องค่าครองชีพเพิ่มขึ้น ตามทิศทางราคาน้ำมันเบนซิน

ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชนในเดือนมี.ค. ลดลง 1.4% จากเดือนก่อน และลดลง 1.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเดือนก่อน ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน

นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวในการแถลงข่าวว่า ในไตรมาส 1/67 เศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับปีก่อน อัตราการขยายตัวยังอยู่ในระดับต่ำ โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการท่องเที่ยว ส่งผลให้การจ้างงานในภาคบริการขยายตัว ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น ขณะที่การผลิตและการส่งออกสินค้าทรงตัว

ทั้งนี้ ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปีนี้ จะขยายตัว 1% จากทั้งไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันปีก่อน และจากข้อมูลไตรมาส 1 ที่ออกมา ถือว่ายังเป็นไปตามที่กนง.ประเมินไว้ ทำให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ทั้งปี 67 ยังมีโอกาสเติบโตได้ 2.6% ตามประมาณการล่าสุดของกนง.

"ถามว่าจาก Q on Q ที่ 1% ที่เรามองว่าจะเร่งขึ้นจากไตรมาส 4 ที่ผ่านมา แปลเป็น year on year ที่เท่าไหร่ ก็ประเมินว่าจะเป็น year on year ที่ไตรมาสแรกประมาณ 1% ค่อนข้างที่จะต่ำ ส่วนนึงจากฐานสูงในปีก่อน" นางปราณี กล่าว

ในระยะต่อไป ต้องติดตามผลของการเบิกจ่ายงบประมาณ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ตลอดจนการฟื้นตัวของการส่งออก จำนวนและรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์

ส่วนการส่งออกในเดือนมี.ค. ที่หดตัวถึง 10% ยังไม่น่าตกใจ เพราะเป็นผลจากฐานสูงในปีก่อน และทิศทางยังสอดคล้องกับที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มองไว้ว่า การฟื้นตัวของการส่งออกจะยังจำกัดในไตรมาส 1 และ 2 ก่อนที่จะฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง

ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีนี้เงินบาทอ่อนค่ามาแล้ว ราว 7.8% ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกถือว่าอ่อนค่าค่อนข้างมาก และอ่อนค่านำสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค จากทั้งเรื่องของนโยบายธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) และตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศที่ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด

แต่พอในช่วงเดือนเม.ย. ถือว่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าอยู่ในระดับกลางๆ หรือน้อยกว่าภูมิภาค เนื่องจากไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามากดดันเพิ่มเติม และไม่พบความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ โดยความผันผวนของเงินบาทในช่วงเดือนเม.ย. ก็ปรับลดลงด้วย

"เงินบาทตั้งแต่เดือนเมษายนค่อนข้างเกาะกลุ่ม และอ่อนค่าอยู่ในระดับกลางๆ... มองไปข้างหน้า ปัจจัยชั่วคราวเรื่อง dividend(จ่ายให้นักลงทุนต่างประเทศ) เรื่องท่องเที่ยว(low season) น่าจะปรับดีขึ้น ปัจจัยกดดันเงินบาทให้อ่อนค่า น่าจะลดลงในครึ่งหลังของปี" นายสักกะภพ กล่าว--จบ--

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้