ReutersReuters

CHINA:ไคซินเผยดัชนี PMI ภาคการผลิตจีนปรับขึ้นแตะจุดสูงสุด 14 เดือน

ปักกิ่ง--30 เม.ย.--รอยเตอร์

  • ผลสำรวจโดยภาคเอกชนที่ออกมาในวันนี้ระบุว่า ดัชนีไคซิน/เอสแอนด์พี โกลบอลสำหรับผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนปรับขึ้นจาก 51.1 ในเดือนมี.ค. สู่ 51.4 ในเดือนเม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดสุงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2023 และอยู่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 51.0 โดยดัชนีที่ระดับสูงกว่า 50 แสดงให้เห็นถึงการขยายตัว ทั้งนี้ รายงานนี้แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมภาคการผลิตของจีนขยายตัวในเดือนเม.ย.ในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 14 เดือน โดยได้รับแรงหนุนจากยอดสั่งซื้อเพื่อส่งออกที่พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง และสิ่งนี้ถือเป็นสัญญาณในทางบวกสำหรับเศรษฐกิจจีน หลังจากเศรษฐกิจจีนเพิ่งเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งในอัตรา 5.3% ในไตรมาสแรกเมื่อเทียบรายปี

  • ผลสำรวจโดยภาคเอกชนนี้สวนทางกับผลสำรวจของทางการจีน เพราะสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) รายงานในวันนี้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนปรับลงจาก 50.8 ในเดือนมี.ค. สู่ 50.4 ในเดือนเม.ย. ในขณะที่นักวิเคราะห์กล่าวว่า ความแตกต่างกันระหว่างดัชนี PMI ของไคซิน กับดัชนี PMI ของทางการจีน เป็นผลมาจากความแตกต่างกันทางภูมิภาคและภาคเศรษฐกิจในการสำรวจของสองหน่วยงานนี้ ทั้งนี้ ผลสำรวจของไคซินระบุว่า ผลผลิตของภาคโรงงานจีนขยายตัวเร็วขึ้นในเดือนเม.ย. และยอดสั่งซื้อใหม่ในภาคโรงงานจีนก็เติบโตอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นในเดือนเม.ย.ด้วยเช่นกัน ทางด้านยอดสั่งซื้อเพื่อส่งออกพุ่งขึ้นในเดือนเม.ย.ในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบเกือบ 3 ปีครึ่ง

  • นายหวัง เจ๋อ นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทไคซิน อินไซท์ กรุ๊ปกล่าวว่า "สินค้าเพื่อการลงทุนพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งกว่าสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าขั้นกลาง ทั้งในด้านอุปทาน, อุปสงค์ภายในประเทศ และอุปสงค์จากต่างประเทศ" ทั้งนี้ ไคซินระบุว่า ดัชนีต้นทุนปัจจัยการผลิตพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 6 เดือน โดยได้รับแรงหนุนจากการทะยานขึ้นของราคาวัตถุดิบ ซึ่งรวมถึงโลหะและน้ำมันดิบ ทางด้านบริษัทในภาคการผลิตปรับลดราคาขายสินค้าลงเพื่อจะได้ช่วยกระตุ้นยอดขาย แต่การทำเช่นนี้ส่งผลลบต่อผลกำไรของบริษัท

  • ความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังคงอยู่ในแดนบวก แต่ลดระดับลงจากเดือนมี.ค. โดยเป็นผลจากความกังวลเรื่องต้นทุนที่พุ่งขึ้น และการแข่งขันที่มากยิ่งขึ้น

  • บริษัทในภาคการผลิตใช้ความระมัดระวังในการปรับเพิ่มลูกจ้าง โดยการจ้างงานในภาคการผลิตปรับลดลงในเดือนเม.ย.เป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน เนื่องจากลูกจ้างลาออกและถูกปลดออกจากงาน โดยเป็นผลจากการปรับโครงสร้าง และสิ่งนี้ตอกย้ำให้เห็นว่าภาคธุรกิจจีนยังคงเผชิญกับแรงกดดันด้านอัตราผลกำไร ทั้งนี้ นายหวังกล่าวว่า "การคาดการณ์แนวโน้มที่อ่อนแอยังคงเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจจีน และปัจจัยนี้เป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อการจ้างงานและเป็นการเพิ่มความเสี่ยงด้านภาวะเงินฝืด"--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้