ReutersReuters

ตลาดซื้อขายดอลลาร์/เยน:ดอลล์/เยนแข็งค่าขณะตลาดรอประชุมเฟด

โตเกียว--30 เม.ย.--รอยเตอร์

  • ดอลลาร์/เยนแข็งค่าขึ้นในการซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ที่ตลาดเอเชีย หลังจากดอลลาร์/เยนเพิ่งพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 34 ปีเมื่อวานนี้ ก่อนที่จะดิ่งลงอย่างรุนแรงเกือบ 6 เยนจากจุดสูงสุดดังกล่าวในระหว่างช่วงการซื้อขายวานนี้ และเทรดเดอร์ก็ระบุว่าการดิ่งลงอย่างรุนแรงของดอลลาร์/เยนเมื่อวานนี้อาจเกิดจากการที่ทางการญี่ปุ่นเข้ามาแทรกแซงตลาดเพื่อช่วยพยุงค่าเงินเยน อย่างไรก็ดี ทางการญี่ปุ่นยังไม่ได้ยืนยันแต่อย่างใดว่า ทางการญี่ปุ่นได้เข้ามาแทรกแซงตลาดจริงหรือไม่ ในขณะที่รายงานอย่างเป็นทางการที่จะช่วยยืนยันได้ว่าเกิดการแทรกแซงตลาดขึ้นจริงหรือไม่จะได้รับการเปิดเผยออกมาในช่วงปลายเดือนพ.ค. ทั้งนี้ นายมาซาโตะ คันดะ รมช.คลังญี่ปุ่นฝ่ายกิจการระหว่างประเทศกล่าวในวันนี้ว่า ทางการญี่ปุ่นพร้อมที่จะจัดการกับปัญหาในตลาดปริวรรตเงินตรา "ตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง" แต่เขาปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นต่อประเด็นที่ว่า กระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้เข้ามาแทรกแซงตลาดเพื่อช่วยหนุนค่าเงินเยนในวันจันทร์หรือไม่

  • ดอลลาร์/เยนแข็งค่าขึ้น 0.29% สู่ 156.78 เยนในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากดอลลาร์ได้พุ่งขึ้นแตะ 160.245 เยนในช่วงแรกของวันจันทร์ ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1990 หรือจุดสูงสุดรอบ 34 ปี ก่อนจะดิ่งลงแตะจุดต่ำสุดของวันจันทร์ที่ 154.40 เยนในเวลาต่อมา ส่วนยูโร/ดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.15% สู่ 1.0703 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ ทางด้านดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินแข็งค่าขึ้น 0.12% สู่ 105.82 ในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากดัชนีดอลลาร์เพิ่งอ่อนค่าลง 0.25% เมื่อวานนี้ ทั้งนี้ ปอนด์ปรับลง 0.12% สู่ 1.2547 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียดิ่งลง 0.37% สู่ 0.6542 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ ทางด้านดอลลาร์นิวซีแลนด์รูดลง 0.33% สู่ 0.5960 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้

  • แคโรล คอง นักยุทธศาสตร์การลงทุนสกุลเงินของธนาคารคอมมอนเวลธ์ แบงก์ ออฟ ออสเตรเลีย (CBA) กล่าวว่า "มีความเป็นไปได้สูงที่การพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งและฉับพลันของเยนเกิดจากการแทรกแซงตลาด แต่ในความเป็นจริงนั้นไม่มีผู้ใดรู้อย่างแน่ชัดว่า กระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้เข้ามาแทรกแซงในตลาดปริวรรตเงินตราในวันจันทร์จริงหรือไม่" และเธอกล่าวเสริมว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มที่จะส่งสัญญาณแบบสายเหยี่ยวในการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค. ซึ่งอาจจะส่งผลให้นักลงทุนเทขายเยนออกมาอีก "และสิ่งนี้ก็หมายความว่า กระทรวงการคลังญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะถูกบีบให้เข้ามาแทรกแซงตลาดมากกว่าหนึ่งครั้งเพื่อชะลอการพุ่งขึ้นของดอลลาร์/เยน" ทั้งนี้ ปริมาณการซื้อขายในตลาดเอเชียในวันจันทร์อยู่ในระดับเบาบางกว่าปกติ เพราะวันจันทร์ที่ผ่านมาเป็นวันหยุดของญี่ปุ่นในสัปดาห์โกลเดน วีค และตลาดการเงินญี่ปุ่นก็จะปิดทำการอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 3 พ.ค.ด้วย

  • ดอลลาร์/เยนยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 155.65 เยนในช่วงท้ายตลาดวันพฤหัสบดีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะเปิดเผยผลการประชุมกำหนดนโยบายออกมาในวันศุกร์ที่แล้ว และสิ่งนี้บ่งชี้ว่า เยนอาจจะเผชิญกับแรงกดดันในช่วงต่อไป ในขณะที่เฟดกำลังจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค. โดยนักลงทุนคาดว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% ต่อไปในการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐยังคงลดลงได้ยาก ทั้งนี้ เทรดเดอร์คาดว่า มีโอกาสเพียง 44% ที่เฟดจะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. อย่างไรก็ดี เทรดเดอร์คาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) อาจจะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในอนาคตอันใกล้นี้ และเทรดเดอร์จะรอดูตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของยุโรปที่จะได้รับการรายงานออกมาในช่วงต่อไปในวันนี้ด้วย เพราะตัวเลขดังกล่าวอาจจะบ่งชี้ถึงกำหนดเวลาที่อีซีบีจะเริ่มต้นวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

  • กระทรวงเศรษฐกิจ, การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) รายงานในวันนี้ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นพุ่งขึ้น 3.8% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ +3.5% ในขณะที่ผลผลิตภาคโรงงานได้รับแรงหนุนจากการที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์บางแห่งกลับมาเปิดการผลิตอีกครั้งหลังจากเผชิญกับข่าวอื้อฉาวด้านความปลอดภัย อย่างไรก็ดี ยอดค้าปลีกญี่ปุ่นปรับขึ้น 1.2% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบรายปี ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ในตลาดที่ +2.2% แต่ถือเป็นการขยายตัวเป็นเดือนที่ 25 ติดต่อกัน ทั้งนี้ ความเปราะบางทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะจำกัดทางเลือกของบีโอเจในการกำหนดนโยบาย เพราะว่าถ้าหากบีโอเจคุมเข้มนโยบายการเงินมากเกินไป การทำเช่นนั้นก็อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอย--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้