ReutersReuters

ตลาดเงินนิวยอร์ค:เยนพุ่งขึ้นขณะนักลงทุนคาดอาจมีการแทรกแซงตลาด

นิวยอร์ค--30 เม.ย.--รอยเตอร์

  • ดอลลาร์/เยนพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 34 ปีในช่วงแรกของวันจันทร์ ก่อนจะดิ่งลงราว 5 เยนในเวลาต่อมา ในขณะที่เทรดเดอร์ระบุว่าการดิ่งลงดังกล่าวเกิดจากการที่ทางการญี่ปุ่นได้เข้ามาแทรกแซงตลาดด้วยการซื้อเยนเป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือน นอกจากนี้ ปริมาณการซื้อขายในตลาดเอเชียก็อยู่ในระดับเบาบางกว่าปกติด้วย เนื่องจากวันจันทร์นี้เป็นวันหยุดราชการของญี่ปุ่นในสัปดาห์โกลเดน วีค ทั้งนี้ นายมาซาโตะ คันดะ รมช.คลังญี่ปุ่นฝ่ายกิจการระหว่างประเทศกล่าวในวันจันทร์ว่า ความเคลื่อนไหวในตลาดปริวรรตเงินตราในปัจจุบันนี้ "เกิดจากการเก็งกำไร, ดำเนินไปอย่างรวดเร็วมาก และอย่างผิดปกติ" และญี่ปุ่นไม่สามารถมองข้ามความเคลื่อนไหวเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ดี เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ทางการญี่ปุ่นได้เข้ามาแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราในวันจันทร์เพื่อช่วยหนุนค่าเงินเยนหรือไม่ นายคันดะก็ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ ทางด้านหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานว่า แหล่งข่าวกล่าวว่าทางการญี่ปุ่นได้เข้ามาแทรกแซงตลาด

  • ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 105.69 ในช่วงท้ายตลาดวันจันทร์ โดยร่วงลงจาก 106.08 ในช่วงท้ายตลาดวันศุกร์

    ดอลลาร์/เยนอยู่ที่ 156.33 เยนในช่วงท้ายตลาดวันจันทร์ โดยดิ่งลงจากระดับปิดตลาดวันศุกร์ที่ 158.33 เยน โดยดอลลาร์ได้พุ่งขึ้นแตะ 160.245 เยนในช่วงแรก ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1990 หรือจุดสูงสุดรอบ 34 ปี ก่อนจะดิ่งลงแตะ 154.4 เยนในเวลาต่อมา

    ยูโร/ดอลลาร์อยู่ที่ 1.0719 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันจันทร์ โดยแข็งค่าขึ้นจาก 1.0692 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันศุกร์

  • นายโจเซฟ เทรวิซานี นักวิเคราะห์ของบริษัทเอฟเอ็กซ์ สตรีทกล่าวว่า "จังหวะเวลาในการแทรกแซงตลาดครั้งนี้เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล เพราะว่าตลาดมีปริมาณการซื้อขายเบาบาง ดังนั้นทางการญี่ปุ่นจะสร้างผลกระทบได้มากยิ่งขึ้น และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้ทางการญี่ปุ่นเลือกที่จะทำสิ่งนี้ในช่วงเช้าของตลาดเอเชีย เพราะพวกเขาจะสามารถผลักดันอัตราแลกเปลี่ยนได้มากในช่วงเวลานั้น" ทั้งนี้ นักลงทุนได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ญี่ปุ่นอาจจะเข้ามาแทรกแซงตลาดเพื่อหนุนค่าเงินเยน หลังจากดอลลาร์/เยนพุ่งขึ้นมาแล้วกว่า 10% จากช่วงต้นปีนี้ ทางด้านคณะกรรมการการค้าสัญญาล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ของสหรัฐ (CFTC) เพิ่งรายงานในวันศุกร์ว่า นักเก็งกำไรและกองทุนเฮดจ์ฟันด์ปรับเพิ่มการถือครองสถานะขายสุทธิในเยนขึ้นสู่ 179,919 สัญญาในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 เม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.ปี 2007 หรือจุดสูงสุดในรอบเกือบ 14 ปี และถือเป็นสถิติสูงสุดอันดับ 2 นับตั้งแต่เริ่มมีการเปิดตัวสัญญาล่วงหน้าเยนในปี 1986 เป็นต้นมา ส่วนสถิติสูงสุดสำหรับสถานะขายสุทธิเยนอยู่ที่ 188,077 เยนในเดือนมิ.ย. 2007

  • นักลงทุนจับตาดูปัจจัยหลายประการในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีและสเปนที่ออกมาในวันจันทร์, อัตราเงินเฟ้อของยุโรปที่จะได้รับการรายงานออกมาในสัปดาห์นี้, การประชุมกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค. และตัวเลขการจ้างงานประจำเดือนเม.ย.ของสหรัฐที่จะได้รับการรายงานออกมาในวันศุกร์ที่ 3 พ.ค. ทั้งนี้ สเปนรายงานในวันจันทร์ว่า อัตราเงินเฟ้อของสเปนในแบบที่ปรับให้สอดคล้องกับสหภาพยุโรป (อียู) อยู่ที่ 3.4% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายปี โดยเร่งตัวขึ้นจาก 3.3% ในเดือนมี.ค. ส่วนสำนักงานสถิติของรัฐบาลกลางเยอรมนีรายงานในวันจันทร์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนีในแบบที่ปรับให้สอดคล้องกับอียู ปรับขึ้น 2.4% ในเดือนเม.ย. โดยเร่งตัวขึ้นจาก 2.3% ในเดือนมี.ค. เนื่องจากราคาอาหารปรับสูงขึ้น และราคาพลังงานชะลอการร่วงลง โดยราคาอาหารปรับขึ้น 0.5% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายปี ในขณะที่ราคาพลังงานปรับลงเพียง 1.2% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายปี หลังจากดิ่งลง 2.7% ในเดือนมี.ค.

  • นักลงทุนคาดว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% ตามเดิมในการประชุมวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค. เนื่องจากตลาดแรงงานสหรัฐอยู่ในภาวะแข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอยู่สูงเกินคาด ทั้งนี้ นักลงทุนปรับลดการคาดการณ์เรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในช่วงที่ผ่านมา และปัจจัยดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนดอลลาร์/เยนให้พุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 34 ปีในช่วงนี้ด้วย--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้