ReutersReuters

JAPAN:ชี้บีโอเจไม่สามารถแก้ไขปัญหาเยนอ่อนค่าเพราะบอนด์ยิลด์ได้

โตเกียว--26 เม.ย.--รอยเตอร์

  • ดอลลาร์/เยนพุ่งขึ้น 0.55% สู่ 156.51 เยนในวันนี้ หลังจากทะยานขึ้นแตะ 156.82 เยนในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1990 หรือจุดสูงสุดรอบ 34 ปี และปัจจัยนี้เป็นการเพิ่มแรงกดดันให้ทางการญี่ปุ่นเข้ามาแทรกแซงตลาด และเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินด้วย อย่างไรก็ดี เทรดเดอร์มองว่า ทางการญี่ปุ่นจะไม่สามารถสกัดกั้นการดิ่งลงของเยนได้มากนัก ในขณะที่การดิ่งลงของเยนมีสาเหตุหลักมาจากอัตราดอกเบี้ยและแรงหนุนส่งในตลาด ทั้งนี้ บีโอเจไม่ได้มีภารกิจด้านอัตราแลกเปลี่ยน แต่การดิ่งลงของเยนส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ โดยผ่านทางการทำให้ราคานำเข้าพุ่งสูงขึ้น ทางด้านนายคาสุโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการบีโอเจกล่าวในวันนี้ว่า "นโยบายการเงินไม่ได้พุ่งเป้าหมายไปที่อัตราแลกเปลี่ยนโดยตรง แต่ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอาจจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจและราคา และถ้าหากการเคลื่อนไหวของเยนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและราคาในแบบที่ยากที่จะเพิกเฉย นั่นก็อาจจะเป็นเหตุผลที่จะปรับนโยบายการเงิน" และเขากล่าวเสริมว่า "สำหรับในตอนนี้ เยนที่อ่อนค่าไม่ได้มีผลกระทบมากนักต่อเงินเฟ้อพื้นฐาน แต่ราคากำลังพุ่งสูงเกินไปโดยรวม และมีโอกาสมากขึ้นที่เงินเฟ้อจะเคลื่อนไหวสอดคล้องกับที่เราคาดไว้ และก็มีความเสี่ยงที่เราอาจจะเห็นภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นรอบที่สองด้วย"

  • นายปราชานท์ นิวนาฮา นักยุทธศาสตร์การลงทุนของบล.ทีดีกล่าวว่า "แทบไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่า บีโอเจกำลังพิจารณาว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้ โดยผลการประชุมบีโอเจในวันนี้เปิดโอกาสให้นักลงทุนทำ carry trade โดยใช้เงินเยนต่อไป และอาจจะส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐ/เยนพุ่งขึ้นเข้าใกล้ 160-161 เยนในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า" โดยการทำ carry trade คือการกู้ยืมสกุลเงินดอกเบี้ยต่ำอย่างเช่นเยน เพื่อนำไปซื้อสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่า ทั้งนี้ นักการเมืองญี่ปุ่นระบุว่า เยนดิ่งลงมากเกินไปในช่วงที่ผ่านมา และบีโอเจก็เพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปีในการประชุมวันที่ 18-19 มี.ค. และบีโอเจได้ยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ใช้มานาน 8 ปีในการประชุมเดือนมี.ค.ด้วย อย่างไรก็ดี เทรดเดอร์ยังคงเทขายเยนออกมาในช่วงนี้ เนื่องจากเยนยังคงถือเป็นสกุลเงินสำคัญที่สามารถกู้ยืมได้ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก โดยปริมาณการถือครองสถานะขายสุทธิในเยนเพิ่งพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 17 ปีในสัปดาห์ที่แล้ว

  • นายนาธาน สวามี หัวหน้าฝ่ายตลาดปริวรรตเงินตราภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของซิตี้กรุ๊ประบุว่า "ถึงแม้บีโอเจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การทำเช่นนี้ก็จะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อค่าเงินเยนในระยะสั้น เพราะว่าเยนได้รับผลกระทบสำคัญจากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ และจากส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ที่อยู่ในระดับสูงมาก" และเขากล่าวเสริมว่า "บีโอเจอาจจะต้องใช้เวลานานระยะหนึ่งในการปรับนโยบายให้เข้าสู่ภาวะปกติอย่างสมบูรณ์ และการทำเช่นนั้นน่าจะเริ่มส่งผลให้เยนแข็งค่าขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญก็คือว่า เฟดจะทำอะไรบ้างในระหว่างช่วงเวลานั้น" ทั้งนี้ นักลงทุนคาดว่า เฟดอาจจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากนักในอนาคต โดยเฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงรวมกันไม่เกิน 2 ครั้งในปีนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐยังคงลดลงได้ยาก และเศรษฐกิจสหรัฐยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลลบต่อค่าเงินเยน

  • สิ่งนี้หมายความว่า อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐจะยังคงอยู่สูงกว่า 5.25% ต่อไปอีกนาน แต่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของญี่ปุ่นอยู่ที่ 0.1% ดังนั้นถึงแม้บีโอเจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกราว 0.22% ในปีนี้ตามที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐก็จะยังคงไม่ปรับเปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก ทั้งนี้ ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปี กับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) อายุ 10 ปี เพิ่งพุ่งขึ้นแตะ 4.1494% ในวันที่ 19 ต.ค. 2023 ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดในรอบ 20 ปี และส่วนต่างดังกล่าวอยู่ที่ 3.7957% ในวันนี้ ซึ่งยังคงถือเป็นระดับที่สูงมาก ทางด้านดอลลาร์/เยนพุ่งขึ้นมาแล้ว 10.97% จากช่วงต้นปีนี้ และทะยานขึ้นมาแล้วกว่า 33% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินพุ่งขึ้นมาแล้ว 4.3% จากช่วงต้นปีนี้

  • ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานของญี่ปุ่น ซึ่งครอบคลุมราคาพลังงานแต่ไม่รวมราคาอาหารสด ปรับขึ้น 2.6% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบรายปี ซึ่งถือว่าต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อของชาติตะวันตกเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ นักลงทุนก็มองว่า ถ้าหากบีโอเจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าว การทำเช่นนั้นก็จะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีหนี้สินสูง ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าบีโอเจจะหลีกเลี่ยงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าว ทั้งนี้ บีโอเจถือครอง JGB ในระดับที่สูงกว่าครึ่งหนึ่งของ JGB ทั้งหมดในตลาดที่มีขนาดราว 1 พันล้านล้านเยน ดังนั้นตลาด JGB จึงถูกครอบงำด้วยบีโอเจ และบีโอเจอาจจะต้องใช้เวลานานหลายปีในการระบาย JGB ที่ถือครองไว้ออกมา นอกจากนี้ นายนากะ มัตสึซาวะ นักยุทธศาสตร์การลงทุนของบริษัทโนมูระยังระบุอีกด้วยว่า ถึงแม้บีโอเจตัดสินใจปรับลดขนาดการเข้าซื้อ JGB ลงราว 1 ล้านล้านเยนต่อเดือน จากอัตราการเข้าซื้อที่ 6 ล้านล้านเยนต่อเดือนในปัจจุบัน การทำเช่นนั้นก็จะส่งผลบวกเพียงราว 0.02% เท่านั้นต่ออัตราผลตอบแทน JGB อายุ 10 ปี ซึ่งเท่ากับว่าการทำเช่นนั้นจะแทบไม่ส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินลงทุนในตลาด--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้