ReutersReuters

FED:ชี้เฟดเผชิญทางเลือกที่ยากลำบากขณะศก.สหรัฐอ่อนแอแต่เงินเฟ้อสูง

วอชิงตัน--26 เม.ย.--รอยเตอร์

  • สำนักงานวิเคราะห์เศรษฐกิจ (BEA) ในกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐเติบโต 1.6% ในไตรมาสแรกเมื่อเทียบเป็นตัวเลขเต็มปี (annualized) ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2/2022 หรือต่ำที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี และอยู่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ +2.4% โดยอัตราการเติบโตนี้ชะลอตัวลงจากอัตราการเติบโตที่ 3.4% ในไตรมาส 4/2023 ด้วย และอยู่ต่ำกว่าระดับ 1.8% ซึ่งเป็นระดับที่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มองว่าเป็นระดับสูงสุดที่จะไม่ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐานปรับขึ้น 3.7% ในไตรมาสแรก ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ +3.4% และเร่งตัวขึ้นจาก +2.0% ในไตรมาส 4/2023 ทั้งนี้ ถ้าหากสถานการณ์แบบนี้ยังคงดำเนินต่อไปเป็นเวลานาน สิ่งนี้ก็จะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เผชิญกับทางเลือกที่ยากลำบาก

  • ในช่วงที่เฟดพยายามต่อสู้กับภาวะอัตราเงินเฟ้อสูงหลังเกิดวิกฤติโรคระบาดนั้น เจ้าหน้าที่เฟดเคยกล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐจำเป็นจะต้องเติบโตต่ำกว่าระดับศักยภาพเป็นเวลานานระยะหนึ่ง ถึงจะสามารถส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงสู่ระดับเป้าหมายได้ ดังนั้นการที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเติบโตเพียง 1.6% ในไตรมาสแรกจึงแสดงให้เห็นว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้เข้าสู่ภาวะดังกล่าวแล้ว หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐเคยเติบโตสูงกว่าระดับศักยภาพที่ 1.8% มาเป็นเวลานาน 6 ไตรมาสติดต่อกันนับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2022 เป็นต้นมา และเศรษฐกิจสหรัฐเติบโตสูงกว่าระดับศักยภาพในเกือบทุกไตรมาสนับตั้งแต่ฤดูร้อนของปี 2016 เป็นต้นมา โดยมีเพียงแค่ 5 ไตรมาสเท่านั้นในช่วงเวลาดังกล่าวที่เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตต่ำกว่าระดับศักยภาพที่ 1.8%

  • อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อยังคงลดลงได้ยาก โดยดัชนี PCE ทั่วไปของสหรัฐพุ่งขึ้น 3.4% ในไตรมาสแรกเมื่อเทียบรายปี ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่เฟดตั้งไว้ที่ 2% เป็นอย่างมาก และตัวเลขดังกล่าวก็ส่งผลกระทบต่อการคาดการณ์ของนักลงทุนที่มีต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยนักลงทุนคาดการณ์ในช่วงนี้ว่า มีโอกาสน้อยกว่า 10% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 11-12 มิ.ย. และมีโอกาสต่ำกว่า 58% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดการณ์อีกด้วยว่า มีโอกาสต่ำกว่า 50% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่สองในการประชุมวันที่ 17-18 ธ.ค.

  • นายโอเรน คลาคคิน นักเศรษฐศาสตร์ตลาดการเงินของบริษัทเนชันไวด์กล่าวว่า ตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 1.6% ในไตรมาสแรกอาจจะบ่งชี้ถึงความอ่อนแอทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเกินความเป็นจริง เพราะว่าเศรษฐกิจในไตรมาสแรกได้รับแรงกดดันเป็นอย่างมากจากยอดนำเข้าและตัวเลขสต็อกสินค้าคงคลัง แต่ทั้งสองปัจจัยนี้ไม่มีแนวโน้มที่จะถ่วงเศรษฐกิจลงตลอดทั้งปีนี้ และเขากล่าวเสริมว่า "อัตราเงินเฟ้อไม่ได้อยู่ในระดับที่จะส่งผลให้เฟดมั่นใจได้ว่า เฟดจะบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2% ดังนั้นเฟดจึงมีแนวโน้มว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงต่อไปเป็นเวลานาน" ทั้งนี้ นายเกรกอรี ดาโค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัท EY ระบุว่า อุปสงค์ในสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะแข็งแกร่ง ในขณะที่ยอดขายขั้นสุดท้ายสู่ผู้บริโภคสหรัฐเติบโต 3.1% และตัวเลขนี้ถือเป็นมาตรวัดอัตราพื้นฐานของกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วไป

  • นักลงทุนจะรอดูดัชนี PCE ประจำเดือนมี.ค.ที่รัฐบาลสหรัฐจะรายงานออกมาในวันนี้ เพื่อดูว่าการที่ดัชนี PCE ไตรมาสแรกพุ่งสูงเกินคาดนั้น เป็นผลมาจากความแข็งแกร่งของดัชนี PCE เดือนมี.ค. หรือเป็นผลมาจากการปรับทบทวนดัชนี PCE ของเดือนม.ค.และก.พ.ให้สูงขึ้นจากเดิม และนักลงทุนจะรอดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนเม.ย.ที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานออกมาในวันศุกร์ที่ 3 พ.ค.ด้วย ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ของซิตี้กรุ๊ประบุว่า "อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำเกินคาดในไตรมาสแรก และอัตราเงินเฟ้อที่สูงเกินคาดในไตรมาสแรก ส่งผลให้เจ้าหน้าที่เฟดเผชิญกับความยากลำบากในการตัดสินใจว่า เฟดควรจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเมื่อใดในปีนี้" และพวกเขาคาดว่า "ตัวเลขกิจกรรมทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่เริ่มอ่อนแอลง" จะช่วยเปิดโอกาสให้เฟดสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ในฤดูร้อนปีนี้--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้