ReutersReuters

USA:สหรัฐเผยศก.โต 1.6% ใน Q1,เงินเฟ้อพฐ.พุ่งขึ้นสู่ 3.7%

วอชิงตัน--26 เม.ย.--รอยเตอร์

  • สำนักงานวิเคราะห์เศรษฐกิจ (BEA) ในกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐเติบโต 1.6% ในไตรมาสแรกเมื่อเทียบเป็นตัวเลขเต็มปี (annualized) ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2/2022 หรือต่ำที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี และอยู่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ +2.4% โดยอัตราการเติบโตนี้ชะลอตัวลงจากอัตราการเติบโตที่ 3.4% ในไตรมาส 4/2023 ด้วย และอยู่ต่ำกว่าระดับ 1.8% ซึ่งเป็นระดับที่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มองว่าเป็นระดับสูงสุดที่จะไม่ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐานปรับขึ้น 3.7% ในไตรมาสแรก ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ +3.4% และเร่งตัวขึ้นจาก +2.0% ในไตรมาส 4/2023 ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐได้รับแรงกดดันในไตรมาสแรกจากการพุ่งขึ้นของยอดนำเข้า และจากสต็อกสินค้าคงคลังในภาคธุรกิจที่ปรับขึ้นเล็กน้อย แต่ปัจจัยทั้งสองประการนี้บ่งชี้ว่า อุปสงค์ในสหรัฐอยู่ในภาวะแข็งแกร่ง และปัจจัยเหล่านี้ช่วยสนับสนุนการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงก่อนถึงการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย.

  • ถึงแม้อัตราการเติบโตของจีดีพีอยู่ต่ำเกินคาด ตัวเลขนี้ก็อาจจะสะท้อนการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในระดับที่รุนแรงเกินความเป็นจริง เพราะว่าอุปสงค์ภายในประเทศอยู่ในภาวะแข็งแกร่ง ในขณะที่ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคสหรัฐชะลอการเติบโตลงเพียงเล็กน้อย โดยปริมาณการจับจ่ายใช้สอยเติบโต 2.5% ในไตรมาสแรก หลังจากเติบโต 3.3% ในไตรมาส 4/2023 ทางด้านการลงทุนทางธรกิจยังคงเติบโตต่อไป และภาคที่อยู่อาศัยในสหรัฐก็ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งมาก ทั้งนี้ นักลงทุนคาดว่า เฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% ตามเดิมในการประชุมวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค. โดยนายแดเนียล เวอร์นาซซา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศของธนาคารยูนิเครดิตกล่าวว่า "เฟดมีแนวโน้มที่จะมองว่ารายงานจีดีพีในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจอยู่ในภาวะแข็งแกร่ง และการที่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้ออยู่สูงเกินคาดก็จะช่วยสนับสนุนให้เฟดรอคอยต่อไปเป็นเวลานานก่อนที่จะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ย"

  • ถ้าหากไม่นำตัวเลขสต็อกสินค้าคงคลัง, การใช้จ่ายภาครัฐ และภาคการค้ามาคำนวณด้วยแล้ว เศรษฐกิจสหรัฐก็เติบโต 3.1% ในไตรมาสแรก หลังจากเติบโต 3.3% ในไตรมาส 4/2023 และสิ่งนี้ช่วยยุติความเห็นที่ว่า การใช้จ่ายภาครัฐคือปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ มาตรวัดอัตราเงินเฟ้ออันหนึ่งของสหรัฐก็อยู่ที่ 3.1% ในไตรมาสแรก ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในรอบ 1 ปี หลังจากอยู่ที่ 1.9% ในไตรมาส 4/2023 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของค่าบริการ ซึ่งรวมถึงต้นทุนค่าขนส่ง, ค่าประกัน และค่าที่อยู่อาศัย และปัจจัยบวกนี้บดบังการดิ่งลงของราคาสินค้า ซึ่งรวมถึงราคารถยนต์

  • รายได้ของชาวสหรัฐพุ่งขึ้น 4.071 แสนล้านดอลลาร์ไตรมาสแรก หลังจากปรับขึ้น 2.302 แสนล้านดอลลาร์ในไตรมาส 4/2023 แต่รายได้สุทธิของภาคครัวเรือนสหรัฐหลังหักภาษีและปรับตามภาวะเงินเฟ้อปรับขึ้นเพียง 1.1% ในไตรมาสแรก หลังจากพุ่งขึ้น 2.0% ในไตรมาส 4/2023 ส่วนอัตราการออมเงินร่วงลงสู่ 3.6% ในไตรมาสแรก จาก 4.0% ในไตรมาส 4/2023 ทั้งนี้ สต็อกสินค้าคงคลังในสหรัฐปรับขึ้น 3.54 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรก หลังจากพุ่งขึ้น 5.49 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาส 4/2023 โดยสต็อกสินค้าคงคลังส่งผลลบ 0.35% ต่ออัตราการเติบโตของจีดีพีในไตรมาสแรก ทางด้านยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ 9.732 แสนล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรก จาก 9.185 แสนล้านดอลลาร์ในไตรมาส 4/2023 ในขณะที่ยอดนำเข้าพุ่งขึ้น 7.2% ในไตรมาสแรก หลังจากปรับขึ้น 2.2% ในไตรมาส 4/2023 ส่วนยอดส่งออกขยับขึ้นเพียง 0.9% ในไตรมาสแรก หลังจากพุ่งขึ้น 5.1% ในไตรมาส 4/2023 โดยภาคการค้าส่งผลลบ 0.86% ต่ออัตราการเติบโตของจีดีพีในไตรมาสแรก ในขณะที่ยอดนำเข้าส่งผลลบราว 1% ต่อจีดีพี แต่ยอดส่งออกส่งผลบวกราว 0.1% ต่อจีดีพี

  • การใช้จ่ายภาครัฐปรับขึ้นเพียง 1.2% ในไตรมาสแรก หลังจากพุ่งขึ้น 4.6% ในไตรมาส 4/2023 ในขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลกลางสหรัฐปรับลง 0.2% ในไตรมาสแรก โดยได้รับแรงกดดันจากการปรับลดการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศ ทางด้านการลงทุนทางธุรกิจปรับขึ้น 2.9% ในไตรมาสแรก ในขณะที่บริษัทหลายแห่งลงทุนในปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยการลงทุนในทรัพย์สินทางปัญญา/ซอฟท์แวร์พุ่งขึ้น 5.4% ในไตรมาสแรก ทั้งนี้ การลงทุนในสิ่งปลูกสร้างนอกภาคที่อยู่อาศัย อย่างเช่น โรงงาน หดตัวลง 0.1% ในไตรมาสแรก หลังจากพุ่งขึ้น 10.9% ในไตรมาส 4/2023 โดยการหดตัวลงในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี ทางด้านการลงทุนในที่อยู่อาศัยพุ่งขึ้น 13.9% ในไตรมาสแรก ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4/2020 โดยได้รับแรงหนุนจากยอดขายบ้านและยอดการก่อสร้างบ้านที่ปรับเพิ่มขึ้น--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้