ReutersReuters

EUROPE:จนท.ชี้อีซีบีกังวลมากในเรื่องค่าแรง,เงินเฟ้อภาคบริการ

แฟรงค์เฟิร์ต--25 เม.ย.--รอยเตอร์

  • อิซาเบล ชนาเบล สมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวในวันนี้ว่า ขั้นตอนสุดท้ายในการทำให้อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนชะลอตัวลงสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% จะเป็นขั้นตอนที่ไม่ราบรื่น และหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ใหญ่ที่สุดที่ยูโรโซนเผชิญอยู่ในตอนนี้ ก็คือประสิทธิภาพการผลิตที่ตกต่ำลง และต้นทุนที่ระดับสูงในภาคบริการ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนชะลอตัวลงอย่างรุนแรงเกินคาดในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่อีซีบีมีความกังวลว่า อัตราเงินเฟ้ออาจจะแกว่งตัวผันผวนได้ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า และอาจจะพุ่งสูงเป็นการชั่วคราวในบางครั้งด้วย

  • ชนาเบลกล่าวว่า "มีการแสดงความเห็นตรงกันในช่วงนี้ว่า เราอาจจะเผชิญกับขั้นตอนสุดท้ายที่ไม่ราบรื่น และสิ่งที่เรากังวลมากที่สุดก็คือภาวะเงินเฟ้อในภาคบริการ" ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในภาคบริการเคลื่อนตัวอยู่ใกล้ 4% ในปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนบางส่วนจากรายได้ที่พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง และจากปริมาณเงินออมที่ระดับสูงในภาคครัวเรือน ทางด้านอีซีบีได้มุ่งความสนใจมากเป็นพิเศษไปที่ค่าแรง โดยอีซีบีระบุว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ รายงานตัวเลขเศรษฐกิจประจำไตรมาสแรกยืนยันว่า ต้นทุนแรงงานชะลอการปรับขึ้น

  • ชนาเบลกล่าวว่า "หนึ่งในสิ่งที่เราจับตาดูอย่างจริงจังมาก ก็คือต้นทุนแรงงานต่อหน่วย" และเธอกล่าวเสริมว่า "ค่าแรงยังคงปรับขึ้นอย่างแข็งแกร่ง แต่ดูเหมือนว่าอัตราการปรับขึ้นกำลังชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในแบบที่สอดคล้องกับการคาดการณ์ของเรา" ทั้งนี้ อีซีบีส่งสัญญาณไว้แล้วว่า อีซีบีมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 6 มิ.ย. แต่อีซีบีเปิดโอกาสสำหรับทางเลือกต่าง ๆ ในการปรับอัตราดอกเบี้ยในช่วงหลังจากนั้น ทางด้านนักลงทุนคาดการณ์ในตอนนี้ว่า อีซีบีอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงรวมกันเพียงราว 0.68% ในปีนี้ หลังจากที่เคยคาดการณ์เมื่อ 2 เดือนก่อนว่า อีซีบีอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงรวมกันมากกว่า 1.00% ในปีนี้ โดยการปรับลดการคาดการณ์ดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนปรับลดการคาดการณ์เรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลงด้วยเช่นกัน

  • อิซาเบลตั้งข้อสังเกตว่า ยูโรโซนเองก็ยังคงเผชิญกับปัญหาด้านเงินเฟ้ออยู่ในปัจจุบัน โดยเธอกล่าวว่า "สิ่งที่น่ากังวลก็คือประสิทธิภาพการผลิต เพราะว่าอัตราการเติบโตของประสิทธิภาพการผลิตมีค่าติดลบในช่วง 2-3 ไตรมาสที่ผ่านมา" ทั้งนี้ ประสิทธิภาพการผลิตดิ่งลงอย่างรุนแรงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่นักลงทุนบางรายมองว่า การดิ่งลงดังกล่าวอาจมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการที่บริษัทหลายแห่งกักตุนแรงงานเอาไว้ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ดังนั้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจน่าจะส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตปรับสูงขึ้น

  • อย่างไรก็ดี การดิ่งลงของประสิทธิภาพการผลิตมักจะส่งผลบวกต่ออัตราเงินเฟ้อ และปัจจัยนี้ก็ส่งผลให้นักลงทุนบางรายกังวลว่า การปรับขึ้นค่าแรงอาจจะส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ ปรับขึ้นราคาสินค้าและค่าบริการต่อไป แทนที่บริษัทจะพยายามปรับลดอัตราผลกำไรลงเพื่อดูดซับค่าแรงดังกล่าว--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้