ReutersReuters

JAPAN:ส่องแนวทางการแทรกแซงตลาดเงินของญี่ปุ่น ขณะเยนร่วงทะลุระดับ 155 ต่อดอลล์แล้ว

  • ทางการญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับแรงกดดันรอบใหม่ให้จัดการกับการอ่อนค่าของเยน ขณะที่เทรดเดอร์กดค่าเงินเยนอ่อนลงจากการคาดการณ์ว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ทั้งนี้ การแทรกแซงซื้อเยนมีรายละเอียดดังนี้

  • ญี่ปุ่นเข้าซื้อเยนในเดือนก.ย.2022 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกเพื่อพยุงค่าเงินเยนตั้งแต่ปี 1998 หลังจากบีโอเจตัดสินใจคงนโยบายการเงินผ่อนคลายพิเศษ ซึ่งทำให้เยนร่วงต่ำสุดที่ 145 ต่อดอลลาร์ และเข้าแทรกแซงอีกครั้งในเดืนอต.ค. หลังจากที่เยนร่วงมาที่ระดับต่ำสุดในรอบ 32 ปีที่ 151.94 ต่อดอลลาร์ การแทรกแซงซื้อเยนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก โดยบ่อยครั้งกว่าที่กระทรวงการคลังขายเยนเพื่อป้องกันไม่ให้การแข็งค่าของเยนกระทบเศรษฐกิจเพราะจะทำให้สินค้าญี่ปุ่นมีความได้เปรียบในการแข่งขันในต่างประเทศลดลง แต่การอ่อนค่าของเยนถูกมองว่าเป็นปัญหาในขณะนี้ เนื่องจากบริษัทญี่ปุ่นย้ายการผลิตไปยังต่างประเทศแล้ว และเศรษฐกิจก็พึ่งพาการนำเข้าสินค้าต่างๆเป็นจำนวนมากนับตั้งแต่เชื้อเพลิง, วัตถุดิบไปจนถึงชิ้นส่วนเครื่องจักร

  • เมื่อทางการญี่ปุ่นเพิ่มคำเตือนในช่วงที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า พวกเขาพร้อมที่จะจัดการเด็ดขาดกับการเคลื่อนไหวแบบเก็งกำไร และนี่ก็เป็นสัญญาณแสดงว่า การแทรกแซงอาจจะใกล้เข้ามา ขณะที่การตรวจสอบอัตราแลกเปลี่ยนของบีโอเจ ซึ่งเจ้าหน้าที่บีโอเจจะโทรหาดีลเลอร์เพื่อสอบถามอัตราการซื้อหรือขายเยนนั้น ถูกเทรดเดอร์มองว่าอาจจะเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นก่อนการแทรกแซง

  • ทางการระบุว่า พวกเขากำลังจับตาอัตราความเร็วของการร่วงลงของเยนมากกว่าระดับ และการเคลื่อนไหวเกิดจากนักเก็งกำไรหรือไม่เพื่อตัดสินว่า จะเข้าแทรกแซงในตลาดเงินหรือไม่ โดยดอลลาร์เคลื่อนตัวสูงกว่าระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 155 เยนแล้ว แต่ก็เป็นการแข็งค่าแบบทีละน้อย และส่วนใหญ่มีสาเหตุจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐและญี่ปุ่น จึงอาจจะเป็นเรื่องยากที่ญี่ปุ่นจะระบุว่า การร่วงลงของเยนไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน และต้องมีการแทรกแซง นักลงทุนในตลาดบางรายคาดว่า เส้นถัดไปที่ทางการขีดไว้อาจจะเป็นระดับ 160 โดยนายทาคาโอะ โอชิ ผู้บริหารพรรคร่วมรัฐบาลกล่าวว่า การร่วงลงของเยนสู่ระดับ 160 หรือ 170 ต่อดอลลาร์อาจจะกระตุ้นให้ผู้กำหนดนโยบายดำเนินการ

  • การตัดสินใจครั้งนี้เกี่ยวข้องทางการเมืองสูง เมื่อประชาชนไม่พอใจกับเยนที่อ่อนค่า และค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามมา นั่นก็จะสร้างแรงกดดันให้ฝ่ายบริหารจัดการ และนี่เป็นกรณีที่เคยเกิดขึ้นเมื่อญี่ปุ่นแทรกแซงในปี 2022 แต่การตัดสินใจครั้งนี้จะไม่ง่าย เพราะการแทรกแซงมีค่าใช้จ่ายสูง และอาจล้มเหลวได้ง่ายๆ เนื่องจากการซื้อเยนจำนวนมากก็จะมีมูลค่าเกือบเท่ากับปริมาณการซื้อขาย 7.5 ล้านล้านดอลลาร์ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

  • เมื่อญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงเพื่อสกัดเยนแข็งค่า กระทรวงการคลังก็จะออกตั๋วเงินคลังระยะสั้น ซึ่งจะระดมเงินเยน และจากนั้นก็จะขายเพื่อทำให้เยนอ่อนค่า แต่เพื่อพยุงค่าเงินเยน ทางการต้องนำทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของญี่ปุ่นออกมาเพื่อขายดอลลาร์/เยน และในทั้งสองกรณี รมว.คลังจะออกคำสั่งเพื่อแทรกแซง และบีโอเจปฏิบัติตามคำสั่งในฐานะตัวแทนของกระทรวง

  • ทางการพิจารณาว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะขอความสนับสนุนจากพันธมิตรในกลุ่มจี-7 โดยเฉพาะสหรัฐ ถ้าหากการแทรกแซงเกี่ยวข้องกับดอลลาร์ และนายซูซูกิกล่าวว่า การประชุมกับรมว.คลังสหรัฐและเกาหลีใต้ในสัปดาห์ที่แล้ว ได้ปูแนวทางเพื่อจัดการกับการเคลื่อนตัวผันผวนมากไปของค่าเงินเยนแล้ว ซึ่งเป็นสัญญาณที่ญี่ปุ่นมองว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการยินยอมอย่างไม่เป็นทางการของสหรัฐเพื่อแทรกแซงตามความจำเป็น อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่กำลังจะสร้างความยุ่งยากให้กับการตัดสินใจว่าจะเข้าแทรกแซงหรือไม่ และเมื่อไหร่--จบ--

Eikon source text

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้