ReutersReuters

UK:จับตาธ.กลางอังกฤษจะเลือกปรับอัตราดบ.ตามอีซีบีหรือตามเฟด

ลอนดอน--25 เม.ย.--รอยเตอร์

  • นายไมค์ โดแลน ผู้เขียนคอลัมน์ของรอยเตอร์ระบุว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) กำลังเผชิญกับทางเลือกในตอนนี้ว่า บีโออีจะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนมิ.ย.ปีนี้เหมือนกับธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) หรือไม่ หรือว่าบีโออีอาจจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเลยในปีนี้เหมือนกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทั้งนี้ นายโดแลนระบุว่า ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่บีโออีเผชิญกับทางเลือกแบบนี้ระหว่างอีซีบีกับเฟด และในตอนนี้บีโออีก็มีความเป็นไปได้ที่จะเลือกทำตามอีซีบี เพราะว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในอังกฤษอยู่ในภาวะอ่อนแอเหมือนกับในยูโรโซน แต่ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันที่อีซีบีจะทำตามเฟด เพราะว่าอัตราเงินเฟ้อในอังกฤษลดลงได้ยากเหมือนกับในสหรัฐ

  • ในช่วงไตรมาสแรกนั้น นักลงทุนเคยคาดการณ์กันว่าทั้งเฟด, อีซีบี และบีโออีต่างก็มีแนวโน้มที่จะเริ่มต้นวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในฤดูร้อนปีนี้ อย่างไรก็ดี การคาดการณ์แนวโน้มของธนาคารกลางทั้ง 3 แห่งนี้ได้ปรับตัวแตกต่างกันไปในช่วงเดือนเม.ย. และนักลงทุนก็ไม่แน่ใจว่า บีโออีจะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อใด ในขณะที่นายฮูว พิลล์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางอังกฤษกล่าวในวันอังคารว่า บีโออีสามารถปรับนโยบายได้อย่างเป็นอิสระโดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางยุโรป ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่บีโออีเองก็แสดงความเห็นที่แตกต่างกันไปในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงนายแอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการบีโออี, นายเดฟ แรมส์เดน รองผู้ว่าการบีโออี และนายโจนาธาน ฮาสเกล สมาชิกสายเหยี่ยวในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (MPC) ของบีโออี ทางด้านนายพิลล์กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ย Bank Rate ของบีโออีลงอย่างรวดเร็วเกินไป ถือเป็นความเสี่ยงที่ร้ายแรงกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างเชื่องช้าเกินไป โดยถ้อยแถลงนี้แสดงให้เห็นว่า นายพิลล์เน้นการใช้ความระมัดระวังในการปรับนโยบายการเงิน ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมา

  • นักลงทุนในตลาดเงินคาดว่า มีโอกาส 50% ที่บีโออีจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 20 มิ.ย. และมีโอกาส 100% เต็มที่บีโออีจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ก่อนหรือภายในการประชุมวันที่ 1 ส.ค. แต่ในส่วนของอีซีบีนั้น นักลงทุนคาดว่า มีโอกาสราว 2 ใน 3 ที่อีซีบีจะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 6 มิ.ย. และมีโอกาส 100% ที่อีซีบีจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ก่อนหรือภายในการประชุมวันที่ 18 ก.ค. นอกจากนี้ ในส่วนของเฟดนั้น นักลงทุนคาดว่ามีโอกาส 50% ที่เฟดจะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อนหรือภายในการประชุมวันที่ 30-31 ก.ค. และมีโอกาสสูงที่เฟดจะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อนหรือภายในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. ทั้งนี้ การคาดการณ์เหล่านี้บ่งชี้ว่า มีความเป็นไปได้อยู่บ้างที่ธนาคารกลางสำคัญทั้ง 3 แห่งนี้อาจจะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเวลาไล่เลี่ยกันระหว่างช่วงวันที่ 18 ก.ค.จนถึงวันที่ 1 ส.ค.

  • อย่างไรก็ดี นักลงทุนคาดการณ์แตกต่างกันไปต่อขนาดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั้ง 3 แห่งในปีนี้ โดยนักลงทุนคาดว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียงราว 0.40% ในปีนี้, คาดว่าบีโออีจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงราว 0.55% และคาดว่าอีซีบีจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเกือบ 0.75% ในปีนี้ ทั้งนี้ นักยุทธศาสตร์การลงทุนของธนาคารบาร์เคลย์สคาดการณ์ในตอนนี้ว่า บีโออีจะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 20 มิ.ย. และอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.75% สู่ 4.50% ก่อนสิ้นปีนี้ จากระดับ 5.25% ในปัจจุบัน โดยที่อัตราดอกเบี้ยจะลงไปแตะจุดต่ำสุดของวัฏจักรที่ 3.75% ในปีหน้า ทางด้านนายซันเจย์ ราจา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อังกฤษของธนาคารดอยช์ แบงก์คาดว่า บีโออีจะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 20 มิ.ย. และจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.75% ในปีนี้ แต่เขาคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะลงไปแตะจุดต่ำสุดของวัฏจักรที่ 3% ในช่วงต้นปี 2026

  • นายโดแลนระบุว่า ค่าเงินปอนด์อาจจะมีบทบาทต่ออัตราเงินเฟ้อในอังกฤษ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยของบีโออีได้ด้วยเช่นกัน โดยดัชนีค่าเงินปอนด์ตามการถ่วงน้ำหนักทางการค้าของบีโออีได้ดิ่งลงมาแล้วกว่า 1% จากช่วงต้นเดือนเม.ย. แต่ดัชนีค่าเงินปอนด์ยังคงพุ่งขึ้นมาแล้ว 3% ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และอยู่ที่ 81.97 เมื่อวานนี้ โดยทะยานขึ้นมาแล้วราว 11% จากระดับ 73.91 ที่เคยทำไว้ในเดือนก.ย. 2022 หลังจากเกิดวิกฤติงบประมาณอังกฤษในช่วงนั้น โดยการแข็งค่าของเงินปอนด์แบบนี้อาจจะส่งผลให้บีโออีมีแนวโน้มมากกว่าเฟดในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารบาร์เคลย์สตั้งข้อสังเกตว่า บีโออีเริ่มต้นวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบล่าสุดในเดือนธ.ค. 2021 ซึ่งเร็วกว่าเฟดราว 3 เดือน และเร็วกว่าอีซีบีราว 7 เดือน และสิ่งนี้ก็แสดงให้เห็นว่า บีโออีมีความสามารถในการปรับนโยบายการเงินอย่างเป็นอิสระ นอกจากนี้ ผลการคำนวณของบาร์เคลย์สก็แสดงให้เห็นว่า อัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศเหล่านี้ที่แตกต่างจากกัน 1.00% จะส่งผลให้ปอนด์อ่อนค่าลงเพียงราว 2% เท่านั้น และการอ่อนค่าดังกล่าวของปอนด์จะส่งผลบวกเพียงราว 0.10-0.20% เท่านั้นต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในอังกฤษ--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้