ReutersReuters

USA:สหรัฐเผยยอดสั่งซื้อสินค้าทุนพื้นฐานปรับขึ้นปานกลางในมี.ค.

วอชิงตัน--25 เม.ย.--รอยเตอร์

  • สำนักงานสำมะโนประชากรในกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานในวันพุธว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าทุนพื้นฐาน หรือยอดสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมอาวุธและเครื่องบินของสหรัฐ ซึ่งถือเป็นมาตรวัดแผนการลงทุนทางธุรกิจ ปรับขึ้น 0.2% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งตรงกับตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ และทางกระทรวงได้ปรับทบทวนตัวเลขของเดือนก.พ.ให้ต่ำลงจากเดิม โดยระบุว่ายอดสั่งซื้อสินค้าทุนพื้นฐานปรับขึ้นเพียง 0.4% ในเดือนก.พ.เมื่อเทียบรายเดือน โดยปรับลงจาก +0.7% ที่เคยรายงานไว้ก่อนหน้านี้ และสิ่งนี้บ่งชี้ว่า รายจ่ายด้านอุปกรณ์ในภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอต่อไปในไตรมาสแรก ทางด้านยอดสั่งซื้อสินค้าทุนพื้นฐานแบบเทียบรายปีปรับขึ้น 0.6% จากเดือนมี.ค. 2023

  • นายคอนราด เดอควาดรอส ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของบริษัทเบรียน แคปิตัลกล่าวว่า "ตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าทุนพื้นฐานไม่มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบมากนักต่อตัวเลขอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาสแรกของสหรัฐที่จะได้รับการรายงานออกมาในวันพฤหัสบดี" และเขากล่าวเสริมว่า "รายงานตัวเลขที่ออกมาในวันพุธบ่งชี้ว่า ภาคโรงงานสหรัฐไม่ได้ตกต่ำลงอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีสัญญาณบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวด้วยเช่นกัน" ทั้งนี้ นายโอลิเวอร์ อัลเลน นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐของบริษัทแพนธีออน แมคโครอิโคโนมิคส์กล่าวว่า "การลงทุนในสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอ และสถานการณ์แบบนี้มีแนวโน้มที่จะยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากสินเชื่อยังคงอยู่ในภาวะเข้มงวด โดยเฉพาะในส่วนของบริษัทขนาดเล็ก"

  • ยอดขนส่งสินค้าทุนพื้นฐานดีดขึ้น 0.2% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากดิ่งลง 0.6% ในเดือนก.พ. ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าทุนยกเว้นอาวุธพุ่งขึ้น 5.4% ในเดือนมี.ค. หลังจากทะยานขึ้น 2.7% ในเดือนก.พ. อย่างไรก็ดี ยอดขนส่งสินค้าทุนยกเว้นอาวุธดิ่งลง 1.5% ในเดือนมี.ค. หลังจากพุ่งขึ้น 2.4% ในเดือนก.พ. โดยยอดขนส่งสินค้าทุนยกเว้นอาวุธเป็นตัวเลขที่ใช้ในการคำนวณรายจ่ายด้านอุปกรณ์ในภาคธุรกิจในรายงานจีดีพีสหรัฐ ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์คาดว่า จีดีพีสหรัฐอาจเติบโต 2.4% ในไตรมาสแรกเมื่อเทียบเป็นตัวเลขเต็มปี (annualized) หลังจากเติบโต 3.4% ในไตรมาส 4/2023 โดยมีแนวโน้มว่ารายจ่ายด้านอุปกรณ์ในภาคธุรกิจอาจหดตัวลงในไตรมาส 1/2024 เป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน ในขณะที่รายจ่ายดังกล่าวได้รับแรงกดดันจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 5.25% นับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2022 เป็นต้นมา

  • ภาคโรงงานซึ่งครองสัดส่วน 10.4% ของขนาดเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่เสถียรภาพในช่วงนี้ โดยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน หรือสินค้าที่สามารถใช้งานได้นานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป พุ่งขึ้น 2.6% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากปรับขึ้น 0.7% ในเดือนก.พ. โดยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนได้รับแรงหนุนหลักจากยอดสั่งซื้ออุปกรณ์การขนส่งที่ทะยานขึ้น 7.7% ในเดือนมี.ค. หลังจากพุ่งขึ้น 1.8% ในเดือนก.พ. ในขณะที่ยอดสั่งซื้อเครื่องบินพลเรือนทะยานขึ้น 30.6% ในเดือนมี.ค. หลังจากพุ่งขึ้น 15.6% ในเดือนก.พ. ทางด้านบริษัทโบอิ้งรายงานว่า ทางบริษัทได้รับยอดสั่งซื้อเครื่องบินพาณิชย์ 113 ลำในเดือนมี.ค. โดยพุ่งขึ้นจาก 15 ลำในเดือนก.พ.

  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานอีกด้วยว่า ยอดสั่งซื้อยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์พุ่งขึ้น 2.1% ในเดือนมี.ค., ยอดสั่งซื้อคอมพิวเตอร์กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ปรับขึ้น 0.8% ในเดือนมี.ค., ยอดสั่งซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าขยับขึ้น 0.1% และยอดสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะประดิษฐ์ปรับขึ้น 0.2% ในเดือนมี.ค. อย่างไรก็ดี ยอดสั่งซื้อโลหะปฐมภูมิร่วงลง 0.5% ในเดือนมี.ค. ทั้งนี้ ยอดขนส่งสินค้าคงทนทรงตัวในเดือนมี.ค. และสต็อกสินค้าคงทนในคลังทรงตัวในเดือนมี.ค. ในขณะที่ยอดสั่งซื้อที่รอส่งสินค้าดีดขึ้น 0.4% ในเดือนมี.ค. หลังจากขยับลง 0.1% ในเดือนก.พ.--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้