ReutersReuters

MORNING BRIEF:สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ

กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--รอยเตอร์

  • ดอลลาร์สหรัฐปรับขึ้นเหนือระดับสำคัญที่ 155 เยน และแตะจุดสูงสุดนับตั้งแต่กลางปี 1990 ในวันพุธ ใขณะที่นักลงทุนจับตาดูว่า ทางการญี่ปุ่นจะเข้ามาแทรกแซงตลาดเพื่อหนุนค่าเงินเยนหรือไม่ ทางด้านนายทาคาโอะ โอชิ เจ้าหน้าที่ระดับสูงในพรรครัฐบาลญี่ปุ่นได้กล่าวต่อรอยเตอร์ว่า ถ้าหากดอลลาร์พุ่งขึ้นเข้าใกล้ระดับ 160 เยน เหตุการณ์ดังกล่าวก็อาจจะกระตุ้นให้มีการแทรกแซงตลาด และเขากล่าวเสริมว่า ถ้าหากดอลลาร์พุ่งขึ้นเข้าใกล้ 160 หรือ 170 เยน "นั่นก็อาจจะถือเป็นการพุ่งขึ้นมากเกินไป และอาจจะกระตุ้นให้ผู้กำหนดนโยบายพิจารณามาตรการบางอย่าง" ทั้งนี้ นักลงทุนบางรายยังไม่ได้เชื่อมั่นมากนักว่าจะมีการแทรกแซงตลาด โดยจายาติ พาราดวาจ นักยุทธศาสตร์การลงทุนสกุลเงินของบล.ทีดีกล่าวว่า "ดอลลาร์/เยนเคลื่อนไหวในแบบที่สอดคล้องกับค่าดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินในวงกว้าง ความเคลื่อนไหวในช่วงนี้ไม่ได้เกิดจากการคาดการณ์เกี่ยวกับธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ซึ่งเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในปีที่แล้ว แต่เกิดจากความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินหลายสกุลโดยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยพื้นฐาน" และเธอกล่าวเสริมว่า ถ้าหากบีโอเจจะเข้ามาแทรกแซงตลาดในฐานะตัวแทนของกระทรวงการคลังญี่ปุ่น บีโอเจก็จะไม่ตั้งเป้าหมายไปยังระดับใดที่เฉพาะเจาะจง แต่จะพิจารณาจากขนาดความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน Eikon source text

    ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 105.80 ในช่วงท้ายตลาดวันพุธ โดยแข็งค่าขึ้น จาก 105.67 ในช่วงท้ายตลาดวันอังคาร หลังจากดิ่งลงแตะ 105.59 ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. หรือจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 2 สัปดาห์

    ดอลลาร์/เยนอยู่ที่ 155.34 เยนในช่วงท้ายตลาดวันพุธ โดยปรับขึ้นจากระดับปิดตลาดวันอังคารที่ 154.82 เยน หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 155.37 เยนในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่กลางปี 1990 หรือจุดสูงสุดรอบ 34 ปี

    ยูโร/ดอลลาร์อยู่ที่ 1.0697 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันพุธ ซึ่งใกล้เคียงกับระดับ 1.0699 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันอังคาร

  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ของตลาดหุ้นสหรัฐปรับลงในวันพุธ แต่ดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ปรับขึ้นในวันพุธ หลังจากแกว่งตัวผันผวนในระหว่างวัน โดยตลาดหุ้นได้รับแรงกดดันจากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังจากสหรัฐเปิดประมูลพันธบัตรอายุ 5 ปีขนาด 7.0 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ และการประมูลดังกล่าวส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ปรับสูงขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีปรับขึ้นจาก 4.598% ในช่วงท้ายวันอังคาร สู่ 4.654% ในช่วงท้ายวันพุธ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐได้รับแรงหนุนในวันพุธด้วยเช่นกันจากผลประกอบการภาคเอกชนที่สดใส โดยเฉพาะผลประกอบการของบริษัทขนาดยักษ์ในกลุ่มเทคโนโลยี ทั้งนี้ หุ้น 7 กลุ่มจาก 11 กลุ่มใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐปิดตลาดวันพุธในแดนบวก โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น, กลุ่มสาธารณูปโภค, กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ทางด้านดัชนีหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐทะยานขึ้น 1.06% ในวันพุธ ในขณะที่หุ้นบริษัทเท็กซัส อินสตรูเมนท์ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปพุ่งขึ้น 5.6% หลังจากเท็กซัส อินสตรูเมนท์รายงานรายได้ไตรมาสสองที่สูงเกินคาด ส่วนหุ้นเทสลาพุ่งขึ้น 12% หลังจากเทสลาวางแผนที่จะปรับเพิ่มการผลิตและจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัดมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี หุ้นโบอิ้งดิ่งลง 2.8% หลังจากโบอิ้งรายงานว่ารายได้ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส Eikon source text

    ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดปรับลง 0.11% สู่ 38,460.92

    ดัชนี S&P 500 ปิดขยับขึ้น 0.02% สู่ 5,071.63

    ดัชนี Nasdaq ปิดบวกขึ้น 0.10% สู่ 15,712.75

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX ปรับลงในวันพุธ ในขณะที่มีรายงานระบุว่า กิจกรรมทางธุรกิจชะลอตัวลงในสหรัฐ โดยบริษัทเอสแอนด์พี โกลบอลรายงานในวันอังคารว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ผลผลิตโดยรวมของสหรัฐ ซึ่งครอบคลุมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ ดิ่งลงจาก 52.1 ในเดือนมี.ค. สู่ 50.9 ในเดือนเม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดรอบ 4 เดือน ในขณะที่อุปสงค์อ่อนแอลง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันก็ได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนลดความกังวลเรื่องความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย ในขณะที่นักวิเคราะห์ของธนาคารโกลด์แมน แซคส์ระบุว่า ความขัดแย้งที่ลดระดับลงระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลอาจจะส่งผลลบราว 5-10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลต่อราคาน้ำมันในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า และนักวิเคราะห์กลุ่มนี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะมีระดับเพดานอยู่ที่ 90 ดอลลาร์ ทั้งนี้ ราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนเข้ามาบ้างในวันพุธ หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) รายงานในวันพุธว่า สต็อกน้ำมันดิบในคลังสหรัฐดิ่งลง 6.4 ล้านบาร์เรล สู่ 453.6 ล้านบาร์เรลในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 เม.ย. ซึ่งสวนทางกับโพลล์รอยเตอร์ที่คาดว่า สต็อกน้ำมันดิบอาจปรับขึ้น 825,000 บาร์เรล โดยการดิ่งลงของสต็อกน้ำมันดิบในครั้งนี้เป็นผลจากยอดส่งออกน้ำมันดิบสหรัฐที่พุ่งขึ้น 453,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ 5.18 ล้านบาร์เรลต่อวันในสัปดาห์ล่าสุด นอกจากนี้ EIA ยังรายงานอีกด้วยว่า สต็อกน้ำมันเบนซินในคลังสหรัฐลดลง 600,000 บาร์เรล สู่ 226.7 ล้านบาร์เรล, สต็อกน้ำมัน Distillate ซึ่งครอบคลุมน้ำมันดีเซลและน้ำมัน heating oil พุ่งขึ้น 1.6 ล้านบาร์เรล สู่ 116.6 ล้านบาร์เรล และอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันปรับขึ้น 0.4% ในสัปดาห์ล่าสุด Eikon source text

    ราคาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนมิ.ย.ร่วงลง 55 เซนต์ หรือ 0.66% มาปิดตลาดที่ 82.81 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

    ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมิ.ย.ที่ตลาดกรุงลอนดอนปรับลง 40 เซนต์ หรือ 0.45% มาปิดตลาดที่ 88.02 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

  • ราคาทองสปอตที่ตลาดสหรัฐปรับลง 5.99 ดอลลาร์ สู่ 2,315.82 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงท้ายตลาดวันพุธ หลังจากเพิ่งดิ่งลงแตะ 2,291.19 ดอลลาร์ในวันอังคาร ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. โดยราคาทองดิ่งลงมาแล้วกว่า 100 ดอลลาร์นับตั้งแต่แตะสถิติสูงสุดที่ 2,431.29 ดอลลาร์ในวันที่ 12 เม.ย. ทั้งนี้ ราคาทองได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนลดความกังวลที่มีต่อความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง และนักลงทุนก็รอดูตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่จะได้รับการรายงานออกมาในสัปดาห์นี้ เพื่อใช้ตัวเลขดังกล่าวในการประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยนายจิม วิคคอฟ นักวิเคราะห์ของบริษัทคิทโค เมทัลส์กล่าวว่า "ถ้าหากสหรัฐรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่ร้อนแรงในวันศุกร์นี้ เฟดก็จะประสบความยากลำบากในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และราคาทองก็อาจจะดิ่งลงสู่ระดับต่ำกว่า 2,200 ดอลลาร์" Eikon source text

--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้