ReutersReuters

USA:คาดศก.โลกอาจได้รับผลกระทบจากการพึ่งพาศก.สหรัฐเมื่อศก.สหรัฐชะลอตัว

นิวยอร์ค--24 เม.ย.--รอยเตอร์

  • นายฟรานเซสโก เกร์เรรา ผู้เขียนคอลัมน์ของรอยเตอร์ระบุว่า เศรษฐกิจโลกกำลังพึ่งพาเศรษฐกิจสหรัฐเป็นหลักในช่วงนี้ ในขณะที่เศรษฐกิจยุโรปและเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกได้ต่อไปเป็นเวลาไม่นานนัก เพราะว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้รับแรงกระตุ้นในช่วงที่ผ่านมาจากการกู้ยืมเงินจำนวนมาก, จากการพุ่งขึ้นของกำลังแรงงาน และจากการทะยานขึ้นของประสิทธิภาพการผลิต และปัจจัยเหล่านี้อาจจะช่วยหนุนเศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้ในระยะยาว นอกจากนี้ นายเกร์เรรายังระบุอีกด้วยว่า ถึงแม้เศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในภาวะแข็งแกร่งในปัจจุบัน เศรษฐกิจสหรัฐก็อาจจะชะลอตัวลงในอนาคต ซึ่งจะถ่วงเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัวลงตามไปด้วย นอกจากว่าเศรษฐกิจโลกจะสามารถพึ่งพาประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากสหรัฐได้ ทั้งนี้ ในการประชุมรอบครึ่งปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลกในสัปดาห์ที่แล้ว ไอเอ็มเอฟคาดว่า เศรษฐกิจโลกอาจจะเติบโต 3.2% ในปีนี้และปีหน้า ซึ่งจะเท่ากับอัตราการเติบโตในปี 2023 แต่อยู่ต่ำกว่าอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยที่ 3.8% ต่อปีในปี 2000-2019 และไอเอ็มเอฟก็คาดการณ์อีกด้วยว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะอยู่ที่ 3.1% ภายในปี 2029 ซึ่งจะถือเป็นจุดต่ำสุดในรอบหลายสิบปี

  • เศรษฐกิจโลกได้รับแรงหนุนหลักจากเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา โดยเศรษฐกิจสหรัฐเพิ่งเติบโต 2.5% ในปีที่แล้ว ซึ่งเท่ากับอัตราการเติบโตของสเปน และส่งผลให้สหรัฐกับสเปนถือเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในปีที่แล้ว ทางด้านไอเอ็มเอฟคาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะเติบโต 2.7% ในปี 2024 ซึ่งสูงกว่า 3 เท่าของอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซน ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟคาดว่า เศรษฐกิจจีนซึ่งเติบโต 5.2% ในปีที่แล้ว จะเติบโตเพียง 4.6% ในปี 2024 และ 4.1% ในปี 2025

  • นายเกร์เรราระบุว่า มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะชะลอตัวลงในอนาคต เมื่อพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เคยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา โดยวิกฤติโรคระบาดได้ส่งผลให้รัฐบาลกลางสหรัฐดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีขนาดราว 27% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2020-2021 และมาตรการกระตุ้นทางการคลังดังกล่าวก็ส่งผลบวกเกือบ 14% ต่ออัตราการเติบโตของจีดีพีสหรัฐในไตรมาส 2/2020 และส่งผลให้ภาคครัวเรือนสหรัฐมีเงินออมส่วนเกินอยู่ในระดับที่สูงกว่าแนวโน้มของช่วงก่อนเกิดวิกฤติโรคระบาดราว 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ด้วย อย่างไรก็ดี วิกฤติโรคโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายต่องบดุลของสหรัฐ โดยยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐเคยมีขนาดราว 5.8% ของจีดีพีในปี 2019 ก่อนที่จะพุ่งขึ้นสู่ระดับเกือบถึง 14% ของจีดีพีในปี 2020 และอยู่สูงกว่า 11% ของจีดีพีในปี 2021 ทางด้านไอเอ็มเอฟประเมินว่า ยอดขาดดุลงบประมาณจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับใกล้ 6.5% ของจีดีพีสหรัฐในแต่ละปีจนถึงปี 2029 ซึ่งสูงเกือบเป็น 2 เท่าของระดับในปี 2015 ทั้งนี้ ผู้บริโภคสหรัฐยังคงใช้จ่ายเงินจำนวนมากด้วย โดยปริมาณการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐในปี 2023 ปรับเพิ่มขึ้น 2.2% จากปี 2022 และอยู่สูงกว่าอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยที่ 1.7% ในช่วงระหว่างปี 2006-2015 ทางด้านปริมาณการใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคในยูโรโซนปรับเพิ่มขึ้นเพียง 0.5% เท่านั้นในปี 2023

  • เนื่องจากการบริโภคครองสัดส่วนเกือบ 70% ของจีดีพีสหรัฐ ดังนั้นเศรษฐกิจสหรัฐจึงพึ่งพาผู้บริโภคเป็นอย่างมาก แต่แรงหนุนจากปัจจัยนี้อาจจะชะลอตัวลงในช่วงนี้ โดยปริมาณเงินออมส่วนเกินของผู้บริโภคสหรัฐได้หดตัวลงสู่ 3.0 หมื่นล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน และผู้บริโภคก็ใช้วงเงินบัตรเครดิตไปมากแล้ว ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ครายงานว่า 9.7% ของหนี้บัตรเครดิตเป็นหนี้ที่ค้างชำระมานาน 90 วัน ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี 2021 เป็นต้นมา นอกจากนี้ การพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจำนองก็ส่งผลลบต่อยอดขายบ้านด้วย โดยยอดขายบ้านในสหรัฐดิ่งลง 4.3% ในเดือนมี.ค. ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟคาดว่า การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลในสหรัฐอาจจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.6% ในปี 2025 ถึงแม้ว่าปริมาณการจับจ่ายใช้สอยในสหรัฐอาจจะยังคงได้รับแรงหนุนต่อไปจากอัตราการว่างงานที่ระดับต่ำ, จากการปรับขึ้นค่าแรงอย่างแข็งแกร่ง และจากผลกำไรที่ได้รับจากการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ

  • เศรษฐกิจสหรัฐได้รับแรงหนุนสำคัญจากผู้อพยพในช่วงที่ผ่านมาด้วย แต่ปัจจัยนี้อาจจะช่วยหนุนเศรษฐกิจไม่ได้ในระยะยาว โดยในเดือนพ.ย. 2023 สำนักงานงบประมาณสภาคองเกรสของสหรัฐ (CBO) ได้ปรับทบทวนตัวเลขการประเมินจำนวนผู้อพยพเข้าสหรัฐสุทธิ โดยปรับขึ้นจาก 1 ล้านคน สู่ 3.3 ล้านคน และการพุ่งขึ้นนี้อาจจะช่วยกระตุ้นปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐได้รับแรงหนุนสำคัญจากประสิทธิภาพการผลิตด้วย โดยจำนวนผลผลิตต่อชั่วโมงต่อคนงานหนึ่งคนพุ่งขึ้น 3.2% ในไตรมาส 4/2023 เมื่อเทียบรายไตรมาส และส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตในสหรัฐทะยานขึ้น 1.3% ในปี 2023 หลังจากดิ่งลง 1.9% ในปี 2022--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้