ReutersReuters

ตลาดซื้อขายดอลลาร์/เยน:ดอลล์ขยับลงขณะยูโรแข็งค่า

โตเกียว--24 เม.ย.--รอยเตอร์

  • ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินขยับลงเล็กน้อยในการซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ที่ตลาดเอเชีย หลังจากดอลลาร์เพิ่งดิ่งลงเมื่อเทียบกับยูโรและปอนด์เมื่อวานนี้ โดยได้รับแรงกดดันจากตัวเลขกิจกรรมทางธุรกิจในยูโรโซนที่แข็งแกร่งเกินคาด และจากตัวเลขกิจกรรมทางธุรกิจในสหรัฐที่ชะลอการเติบโตลงในเดือนเม.ย. ทั้งนี้ บริษัทเอสแอนด์พี โกลบอลรายงานในวันอังคารว่า กิจกรรมทางธุรกิจในยูโรโซนขยายตัวในเดือนเม.ย.ในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบเกือบ 1 ปี โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวในภาคบริการ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) โดยรวมขั้นต้นของยูโรโซนดีดขึ้นจาก 50.3 ในเดือนมี.ค. สู่ 51.4 ในเดือนเม.ย. และดัชนี PMI ภาคบริการของยูโรโซนพุ่งขึ้นจาก 51.5 ในเดือนมี.ค. สู่ 52.9 ในเดือนเม.ย. อย่างไรก็ดี ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ผลผลิตโดยรวมของสหรัฐ ซึ่งครอบคลุมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ ดิ่งลงจาก 52.1 ในเดือนมี.ค. สู่ 50.9 ในเดือนเม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดรอบ 4 เดือน ในขณะที่อุปสงค์อ่อนแอลง และอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงเล็กน้อย

  • ดอลลาร์/เยนขยับลง 0.01% สู่ 154.80 เยนในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากปรับขึ้นแตะ 154.88 เยนในวันอังคาร ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่กลางปี 1990 หรือจุดสูงสุดรอบ 34 ปี ส่วนยูโร/ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 0.1% สู่ 1.0710 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากปรับขึ้นแตะ 1.0714 ดอลลาร์สหรัฐในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. หรือจุดสูงสุดในรอบเกือบ 2 สัปดาห์ โดยยูโรเพิ่งแข็งค่าขึ้น 0.45% ในวันอังคาร ทางด้านดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอ่อนค่าลง 0.05% สู่ 105.62 ในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากร่วงลงแตะ 105.59 ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. หรือจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 2 สัปดาห์ โดยดัชนีดอลลาร์เพิ่งปรับลง 0.4% ในวันอังคาร และออกห่างจากจุดสูงสุดรอบ 5 เดือนครึ่งที่ 106.51 ที่ทำไว้ในสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ ปอนด์แข็งค่าขึ้น 0.11% สู่ 1.2462 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากพุ่งขึ้น 0.79% เมื่อวานนี้ และออกห่างจากจุดต่ำสุดรอบ 5 เดือนที่ 1.2299 ดอลลาร์สหรัฐที่ทำไว้ในวันจันทร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้น 0.52% สู่ 0.6523 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ และออกห่างจากจุดต่ำสุดรอบ 5 เดือนที่ 0.6363 ดอลลาร์สหรัฐที่ทำไว้ในวันศุกร์ ทางด้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ทะยานขึ้น 0.26% สู่ 0.5947 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้

  • ปอนด์ได้รับแรงหนุนจากรายงานของบริษัทเอสแอนด์พี โกลบอลในวันอังคารที่ระบุว่า ดัชนี PMI โดยรวมของอังกฤษพุ่งขึ้นจาก 52.8 ในเดือนมี.ค. สู่ 54.0 ในเดือนเม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดรอบ 11 เดือน และสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมทางธุรกิจในอังกฤษขยายตัวในเดือนเม.ย.ในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบเกือบ 1 ปี ทางด้านนายฮูว พิลล์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) กล่าวว่า จะยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนที่บีโออีจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ทั้งนี้ ดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้นในวันนี้ ในขณะที่สำนักงานสถิติออสเตรเลียรายงานในวันนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับขึ้น 3.6% ในไตรมาสแรกเมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวลงจาก 4.1% ในไตรมาส 4/2023 แต่อยู่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 3.5% สำหรับไตรมาสแรก

  • นักลงทุนรอดูผลการประชุมกำหนดนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ในวันที่ 25-26 เม.ย., รอดูตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาสแรกของสหรัฐที่จะได้รับการรายงานออกมาในวันพฤหัสบดี และรอดูดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่รัฐบาลสหรัฐจะรายงานออกมาในวันศุกร์ที่ 26 เม.ย.ด้วย โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มักใช้ดัชนี PCE เป็นมาตรวัดภาวะเงินเฟ้อ นอกจากนี้ นักลงทุนก็คาดการณ์กันในตอนนี้ว่า มีโอกาส 73% ที่เฟดอาจจะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย.

  • ดอลลาร์/เยนเคลื่อนตัวในกรอบที่แคบมากระหว่างระดับ 154.50-154.88 เยนในสัปดาห์นี้ ในขณะที่เทรดเดอร์กังวลว่า ถ้าหากดอลลาร์พุ่งขึ้นเหนือระดับ 155 เยน ทางการญี่ปุ่นก็อาจจะเข้ามาแทรกแซงตลาดด้วยการเทขายดอลลาร์ออกมา ทั้งนี้ ถึงแม้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีแนวโน้มที่จะส่งสัญญาณในวันศุกร์นี้ว่า บีโอเจพร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ เยนก็ได้รับแรงกดดันจากการที่บีโอเจใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก และจากการที่บีโอเจกำหนดนโยบายโดยยึดตามตัวเลขเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยเจน โฟลีย์ นักยุทธศาสตร์การลงทุนของธนาคารราโบแบงก์กล่าวว่า "ถ้าหากการแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราประสบความล้มเหลว ทางการญี่ปุ่นก็จะได้รับความเสียหายเป็นอย่างมากทั้งในด้านต้นทุนทางการเงินและชื่อเสียง" และเธอกล่าวเสริมว่า "ในอดีตนั้น การแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราจะประสบความสำเร็จมากที่สุด ถ้าหากสกุลเงินดังกล่าวได้รับแรงหนุนจากปัจจัยพื้นฐานด้วยเช่นกัน แต่ดอลลาร์สหรัฐ/เยนอาจจะยังไม่ร่วงลงจนกว่าจะถึงฤดูร้อนปีนี้"--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้